กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – ปตท.ชัดเจนปีนี้ลงทุนธุรกิจยา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมร่วมทุนซีพี-บีทีเอส ยันซื้อโกลว์เสริมต่อความมั่นคงอีอีซี และเตรียมแผนรองรับ หาก กกพ.-กระทรวงการคลังชี้ว่ามีอำนาจเหนือตลาด แม้กำลังผลิตจะไม่ถึง 1 ใน 8 ของกำลังผลิตรวมของประเทศ
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมลงทุนของกลุ่ม ปตท. โดยบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (เอนโก้) เพื่อเสนอร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (อู่ตะเภา,สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง) ซึ่งมีผู้เชิญชวนให้ ปตท.ร่วมลงทุน 10 ราย ขณะนี้คัดเลือก 2 รายเป็นกลุ่มร่วมทุน (Consortium ) ในประเทศ ที่เป็นกลุ่มลงทุนรถไฟฟ้าลอยฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดิน โดย ปตท.ได้ตั้งที่ปรึกษามาดูว่าควรร่วมทุนกับกลุ่มใด หากศึกษาเสร็จสิ้นเร็วก็คาดว่าจะเสนอเข้าคณะกรรมการ ปตท.วันที่ 28 กันยายนนี้ หรือเดือนตุลาคมนี้ ก่อนที่จะร่วมกันยื่นเสนอประมูลตามกำหนดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เดือนพฤศจิกายนนี้
รายงานข่าวแจ้งว่ากลุ่มคอนซอร์เตียม 2 กลุ่มดังกล่าว คาดว่าจะประกอบไปด้วย กลุ่มบีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ, ราชบุรีโฮลดิ้งส์ และกลุ่มซีพี ที่จะร่วมกลุ่ม ช.การช่าง
ขณะที่ ปตท.ให้ความสนใจเรื่องการลงทุนด้านชีวภาพและผลิตภัณฑ์ยาที่ได้ร่วมลงนามกับองค์การเภสัชกรรมไปแล้ว เช่น ยาต้านมะเร็ง ซึ่งนายชาญศิลป์ ย้ำว่าจะมีความชัดเจนและเสนอร่วมทุนต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท.เดือนธันวาคมนี้ โดยการลงทุนด้านนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงยามากขึ้น และหลายการลงทุนอาจจะดูไปถึงผลิตภัณฑ์ยาที่หมดอายุสิทธิบัตรไปแล้ว ทำให้เกิดการผลิตที่ไม่ผิดด้านสิทธิบัตรแต่อย่างใด
ส่วนกรณีนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคัดค้านกรณีกลุ่ม ปตท. โดยบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี ซื้อหุ้นและควบรวมกิจการกับบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือโกลว์ นั้น นายชาญศิลป์ มองว่าทุกคนกังวลได้ แต่ควรอยู่บนเหตุและผล หาก 2 บริษัทรวมกันได้ก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาด เพราะมีกำลังผลิตเพียง 5,000 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตของประเทศที่มีรวม 40,000 เมกะวัตต์ และนับเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอันดับที่ 5 ของประเทศ ช่วยเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้า และส่งเสริมการลงทุนพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องอำนาจเหนือตลาดกรณีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร ทาง ปตท.ก็มีแนวทางเตรียมพร้อมรองรับไว้แล้ว โดยในกรณีการซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างกันก็เป็นการซื้อขายตามมาตรฐานไม่ได้มีการลดราคาเป็นพิเศษ เพราะแต่ละบริษัทอยู่ในตลาดหลกทรัพย์ฯ มีข้อกำหนด มีการดูแลสัญญาแต่ละบริษัท ดังนั้น จึงไม่สามารถลดราคาเป็นพิเศษระหว่างกันได้
“ในเรื่องการซื้อหุ้นโกลว์ ทางผู้ร่วมทุน คือ ENGIE ของฝรั่งเศส ต้องการเปลี่ยนนโยบายการลงทุนและขายหุ้นโกลว์ออกมา และเห็นว่าจีพีเอสซีเหมาะสม จึงตั้งทีมคุยกันและทำตามกฎระเบียบผ่านการเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 ฝ่าย และขณะนี้รอ กกพ.และกระทรวงพาณิชย์พิจารณาเรื่องการมีอำนาจเหนือตลาด”นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวด้วยว่า ธุรกิจกาแฟอเมซอน 15 ปี ก็เป็นการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เติบโตทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่ได้เข้าไปแย่งมาร์เก็ตแชร์ของร้านกาแฟย่อยตามตรอกซอกซอยแต่อย่างใด โดยแบรนด์อเมซอนจะสู้กับแบรนด์ต่างประเทศข้างบนเท่านั้น และธุรกิจกาแฟและธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันอื่น ๆ นั้น ปตท.ตั้งขึ้นมาก็เพื่อรองรับค่าการตลาดน้ำมันที่ต่ำมาก จึงต้องมีธุรกิจเสริม
ด้านการลงทุนเพิ่มในอินโดนีเซียนั้น ขณะนี้คงจะเน้นเรื่องการจำหน่ายทั้งน้ำมันและเม็ดพลาสติกเป็นหลักไปก่อน เพราะแม้จะเป็นตลาดที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากที่มีประชากรจำนวนมาก แต่ยังมีกฎกเกณฑ์ที่ลงทุนได้ยาก ส่วนการกระจายหุ้นถ่านหินนั้น คาดว่าจะมีความชัดเจนไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 ปี 2562.-สำนักข่าวไทย