กรุงเทพฯ 1 ส.ค. – กรมชลประทานเสริมท่อกาลักน้ำ เร่งพร่องน้ำจากเขื่อนขนาดกลางและเล็กที่เกินเกณฑ์เก็บกัก เพื่อมีพื้นที่รับน้ำฝนและน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทำให้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาตรเกินเกณฑ์เก็บกัก (Upper Rule Curve) จึงเร่งพร่องน้ำออก โดยระบายผ่านอาคารชลประทาน พร้อมทั้งเสริมท่อกาลักน้ำเข้าไปดึงน้ำจากอ่างลงสู่ลำน้ำต่าง ๆ เช่น ที่เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยน้ำจากเขื่อนน้ำอูนจะระบายสู่ลำน้ำอูนแล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่นครพนม ส่วนน้ำจากเขื่อนลำปาวจะระบายออกสู่ลำน้ำปาวไปเชื่อมกับลำน้ำชี ขณะนี้ได้เร่งผลักดันน้ำในลำน้ำชีซึ่งจะไหลไปบรรจบกับลำน้ำมูลที่อุบลราชธานีให้ออกสู่แม่น้ำโขงไป
สำหรับจังหวัดริมแม่น้ำโขงตั้งแต่หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานีนั้น มีฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร กรมชลประทานจึงนำเครื่องสูบน้ำไประดมสูบออกลำน้ำสาขาและใช้เครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายลงสู่แม่น้ำโขง ส่วนจังหวัดในภาคเหนือที่ห่วงใย คือ จังหวัดน่าน ซึ่งยังมีฝนตกชุกอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากได้
ส่วนฝั่งตะวันตกของประเทศมีฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรีจนถึงระนอง แม้ว่ากรมชลประทานจะพร่องน้ำออกจากเขื่อนต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า แต่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามาก จึงวางแผนระบายน้ำต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน ด้านเขื่อนแก่งกระจานขณะนี้มีน้ำประมาณร้อยละ 92 ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำไหลเข้าเริ่มลดลง ประกอบกับได้เสริมกาลักน้ำเข้าไป 10 ชุด เพื่อเร่งพร่องน้ำจะทำให้น้ำเริ่มทรงตัวในอีก 2 วันข้างหน้า นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้จำลองปริมาตรน้ำในช่วงฤดูฝนจากเครื่องมือ ROS (Reservoir Operation Study) กำหนดสถานการณ์ตัวอย่าง 3 สถานการณ์ จากข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำปี 2554, 2557 และปีเฉลี่ย ผลปรากฎว่า ปริมาตรน้ำในเขื่อนแก่งกระจานจะทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 92 ถึงสิ้นเดือนกันยายน
นายทองเปลว กล่าวว่า ได้สั่งการให้จำลองปริมาตรน้ำในเขื่อนอื่น ๆ ด้วย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และพิจารณาการบริหารจัดการน้ำได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการระบายน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำในอ่างฯ สูงกว่าเกณฑ์ควบคุมให้เร่งดำเนินการวางแผนการระบายน้ำ เพื่อเป็นการพร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกักต่อไป ส่วนเขื่อนขนาดกลางจะพิจารณาการระบายน้ำในอ่างฯ ที่มีความจุเก็บกักมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ แต่มีปริมาณน้ำไหลเข้า (Inflow) น้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับความจุจะรักษาปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 70 – 80 ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าความจุอ่างฯ 2 เท่า ให้รักษาปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 60 – 70 เพื่อไม่ให้น้ำล้นออกและยังเป็นการรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน
สำหรับเขื่อนขนาดเล็กที่กรมชลประทานถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปดูแลนั้น มีหลายฝ่ายเป็นห่วงถึงศักยภาพของท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำและดูแลความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน กรมชลประทานไม่ได้ละเลยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ทั้งเครื่องสูบน้ำ รถขุด รถแบ็คโฮ พร้อมเข้าช่วยเหลือทันที หากพบความเสี่ยง ล่าสุดพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลด้านการบริหารจัดการน้ำได้กำชับเรื่องดังกล่าว จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่เกิดอุบัติภัยร้ายแรงแน่นอน.-สำนักข่าวไทย