กรมชลประทาน 18 ม.ค.-กรมชลประทานยืนยันสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยายังอยู่ในภาวะปกติ
หลังมีข่าวน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดอ่างทอง
ลดลงต่อเนื่องจนเห็นสันดอนทรายกลางแม่น้ำหลายจุด ย้ำปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก
มีเพียงพอที่สนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ตลอดทั้งฤดูแล้ง
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า
ในช่วงก่อนจะเข้าสู่ฤดูแล้งทุกปี กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นประจำทุกปี
โดยใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกาย 2560 – เมษายน 2561 ซึ่งฤดูแล้งปี 2560/61 ได้มีการจัดสรรน้ำไว้จำนวนทั้งสิ้น 14,187 ล้านลูกบาศก์เมตร
เป็นการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งจำนวน 7,700 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำ
สำหรับอุปโภคบริโภค 1,140 ล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระบบนิเวศและอื่น
ๆ 1,450 ล้านลูกบาศก์เมตรและการเกษตร 5,110 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลืออีก 6,487 ล้านลูกบาศก์เมตรจะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม
– กรกฎาคม 2561
สำหรับในพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ได้วางแผนไว้ทั้งสิ้นประมาณ 6.26 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรัง 5.17 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.06 ล้านไร่ และพืชอื่น ๆ 1.03 ล้านไร่ ซึ่งผลการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2560/61 จนถึงวันที่ 18 มกราคม 2561 ได้ระบายน้ำตามแผนฯ จำนวน 2,835 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 37 ของแผนจัดสรรน้ำฯ
ขณะที่การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบันมีการระบายในอัตรา 90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง (ณ 17 ม.ค.61) มีการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ไปแล้วประมาณ 4.74 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 92 ของแผนฯ การส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทาน
ยังสามารถสนับสนุนได้อย่างเพียงพอ ไม่เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกแต่อย่างใด
“กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ใน 4 เขื่อนหลัก
สามารถที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้อย่างเพียงพอตามแผนการจัดสรรที่ได้วางไว้ตลอดในช่วงฤดูแล้งปี
2560/61 อย่างไม่ขาดแคลน แต่ยังต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด
เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตให้มากที่สุด”อธิบดีกรมชลประทานกล่าว-สำนักข่าวไทย