กรุงเทพฯ 4 พ.ย.- ปตท.ฟันธงปีหน้าแม้โอเปคจะลดกำลังการผลิตแต่ราคาน้ำมันคงไม่เพิ่มขึ้นมากนัก
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์สถานการณ์ ทิศทาง และราคาพลังงาน ของ PRISM (Petrochemicals and Refining Integrated Synergy Management) พบว่า ด้านความต้องการใช้น้ำมันในปีหน้าว่า ยังเติบโตต่อเนื่อง โดย GDP โลกคาดว่าจะเติบโตขึ้น ในระดับร้อยละ 3.7 เพราะเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนามีการขยายตัวโดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบาย One Belt One Road/Chinese Dream 2050 กับอินเดีย นโยบาย Make in India มีการขยายการลงทุนด้านอุตสาหกรรม และลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นมหาศาล แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นกระแสที่มาแรง แต่ในปีนี้ รถยนต์ไฟฟ้ามีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.1 ของรถยนต์ทั้งหมดเท่านั้นเอง ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าแต่ละประเทศจะปฏิบัติตาม Paris Agreement (COP21)ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันจะยังคงเติบโตต่อเนื่องในปีหน้านี้
ด้านการผลิตน้ำมันนั้น กลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือ OPEC ซึ่งนำโดย ประเทศซาอุดีอาระเบีย ยังคงพยายามลดกำลังผลิตเพื่อให้ตลาดเข้าสู่ภาวะสมดุล โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า ในขณะที่อเมริกากลับมาผลิต Shale Oil มากขึ้น เพราะราคาปรับสูงขึ้น อาจส่งผลให้ปริมาณไม่ลดลงมากอย่างที่ OPEC ต้องการ ขณะที่ผู้ผลิตในแหล่งอื่น เช่น Deepwater, Oil sands เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้สามารถสร้างกำไรได้ แม้ราคาจะอยู่ในระดับ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล
ส่วนคาดการณ์ราคาน้ำมัน การประชุมกลุ่ม OPEC ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2017 มีแนวโน้มที่จะขยายมาตรการลดกำลังการผลิตจากเดิมที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2018 ออกไปอีก 3-9 เดือน เพื่อให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง และน้ำมันสำเร็จรูปของโลก กลับมาอยู่ที่ระดับปกติ และทำให้ตลาดมีความสมดุลมากขึ้น ระดับราคาน้ำมันดิบจึงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากสภาวะตลาดที่เริ่มเข้าสู่สมดุล แต่กำลังการผลิตของสหรัฐฯ และผู้ผลิตจากแหล่งอื่นที่เข้ามา ทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นในกรอบจำกัด โดยคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบน่าจะอยู่ที่ระดับ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วน EV: รถยนต์ไฟฟ้าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ยังต้องพัฒนาอีกหลายเรื่อง เนื่องจากปัญหาด้านราคา ระยะในการขับขี่ ความหลากหลาย สถานีจ่ายไฟไม่ทั่วถึง อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ จึงเติบโตไม่ได้เต็มที่
ดังน้นต้องจับตานโยบายการสนับสนุนของภาครัฐ ไม่ว่าจะรูปแบบของการลดภาษี หรือ การสนับสนุนทางการเงิน
นายเทวิน กล่าวว่า โดยสรุปแล้ว สถานการณ์พลังงานโดยรวมในช่วงระยะเวลา 5-10 ปีจากนี้ ยังคงมีการใช้น้ำมันอยู่ แต่คงไม่ได้มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคดิจิตอล นโยบายการเมือง เศรษฐกิจในซีกโลกตะวันออกและตะวันตก รวมถึงทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตจะเน้นการผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องติดตามนโยบายพลังงาน การพัฒนาเทคโนโลยี และความต้องการของผู้บริโภคประกอบกันไปในระยะยาว
PRISM (Petrochemicals and Refining Integrated Synergy Management) คือ นักวิเคราะห์รุ่นใหม่ของกลุ่ม ปตท. ที่ศึกษาสถานการณ์ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมีของไทยและของโลก เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนธุรกิจ เราตั้งเป้าหมายพัฒนาทีม PRISM ให้เป็นหน่วยงานอ้างอิงของกลุ่ม ปตท. ที่ให้ข้อมูลด้านสถานการณ์พลังงานและเศรษฐกิจแก่หน่วยงานที่สนใจ เช่นเดียวกับ Platts, PIRA, HIS ที่เป็นองค์กรอ้างอิงสากล เพื่อสร้างให้เกิดบรรยากาศการแบ่งปันข้อมูลด้านพลังงานในประเทศ-สำนักข่าวไทย