กรุงเทพฯ 18 พ.ค. – “ดร.อนุสรณ์” เผย G-Token ทางเลือกกู้เงินภาครัฐ ย้ำเป็นเพียงพันธบัตรรัฐบาล ในรูปโทเคนดิจิทัล ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ การลงทุน และระบบการเงิน สหรัฐถูกลดอันดับเครดิต ต้นทุนการเงินเพิ่ม ดอกเบี้ยพันธบัตรพุ่ง ดอลลาร์อ่อน
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การออก G-Token เป็นทางเลือกการกู้เงินภาครัฐและการลงทุนของประชาชน แต่ไม่ใช่เงิน ไม่ได้สร้างปริมาณเงินขึ้นมาใหม่ จึงไม่น่าผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.เงินตรา เป็นเพียงพันธบัตรรัฐบาลออกมาในรูปโทเคนดิจิทัล G-Token เป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารการคลัง เป็นเครื่องมือในการระดมทุน กู้เงินของรัฐบาล เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีสามารถลงทุนและออมเงินผ่านเครื่องมือดังกล่าวได้ G-Token จึงไม่ใช่เงินตรา (Currency) หรือไม่ใช่ Cryptocurrency สินทรัพย์ทางการเงินเพื่อการลงทุนหรือการเก็งกำไร
ขณะเดียวกัน ยังแตกต่างจาก Utility Token ซึ่งให้สิทธิผู้ถือได้รับบริการหรือสิทธิอื่นที่เฉพาะเจาะจง สำหรับการออกพันธบัตรในรูปโทเคนดิจิทัล ช่วยลดต้นทุนการระดมทุนในระยะยาว เพิ่มสภาพคล่องในตลาดรอง สามารถลงทุนขั้นต่ำเท่าไหร่ก็ได้ มีความโปร่งใสมากขึ้นในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยกระทรวงการคลังต้องเตรียมเงินสำหรับจ่ายเงินต้นดอกเบี้ยไว้เต็มจำนวน เป็น Fully backed นั่นเอง
สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ ต้องตรวจสอบให้รอบคอบว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องเปิดช่องให้ทำได้มากน้อยแค่ไหน และควรเร่งแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 เพื่อรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ครอบคลุมมากกว่าเดิมไปพร้อมกัน นอกจากนี้ กระบวนการออกและทำธุรกรรม G-Token ต้องมีความมั่นคงปลอดภัยและมีเสถียรภาพเช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาล เมื่อเป็นของใหม่ อาจเกิดความเสี่ยงของสภาพคล่องในตลาดรองได้ หากไม่มีการซื้อขายมากพอ เนื่องจากเป็นของใหม่ นักลงทุนอาจไม่คุ้นเคย ฉะนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการและกลไกในการเสริมสภาพคล่อง เพื่อรองรับความเสี่ยงนี้ด้วยในโครงการนำร่องระยะแรก
กรณี มูดี้ส์ ปรับลดอันดับเครดิตจากระดับสูงสุด Aaa ลงมาที่ Aa1 ทำให้ต้นทุนทางการเงินและการกู้เงินของสหรัฐอเมริกา ทั้งรัฐและเอกชนจะเพิ่มมากขึ้น อันดับเครดิตและความน่าเชื่อถือจะยังไม่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล การจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการลดหย่อนภาษีให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนของรัฐบาลทรัมป์ จึงคาดการณ์ว่า หากไม่มีการปฏิรูปภาคการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของสหรัฐฯ อาจขึ้นแตะระดับ 135% ภายใน 10 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะในระดับดังกล่าวจะทำให้ “พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ” และ “เงินดอลลาร์สหรัฐ” สูญเสียความน่าเชื่อถือลงได้ อาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องในระยะยาว บทบาทในฐานะของเงินสกุลหลักของระบบการเงินโลกอาจเปลี่ยนแปลงไป จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเร่งปฏิรูประบบการคลัง แก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณและการก่อหนี้มากเกินไปให้ได้.-515-สำนักข่าวไทย