กรุงเทพฯ 22 เม.ย. – กรมบัญชีกลาง ออกกฎกระทรวง คุมเข้มการจัดซื้อจัดจ้าง ป้องกันใช้สิทธิอุทธรณ์ ซ้ำซากถ่วงเบิกงบล่าช้า
นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ 2568 เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า ไม่คล่องตัว ทำให้เบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า หรือบางโครงการงบประมาณต้องถูกพับไป เนื่องจากไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามระยะเวลาที่กำหนด การอุทธรณ์จากเดิมกำหนดไว้เพียง 2 กรณี คือไม่ให้อุทธรณ์เรื่องคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นในวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ และกรณีที่หน่วยงานของรัฐนำขอบเขตของงานเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการแล้วแต่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ได้วิจารณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้แพ้ประมูลจากคู่แข่ง ยื่นอุทธรณ์บ่อยครั้งซ้ำซาก ทำให้โครงการลงทุนเดินหน้าต่อไปไม่ได้
กรมบัญชีกลาง จึงกำหนดเพิ่มเติมอีก 6 กรณี ได้แก่ 1. กรณีการจัดซื้อจัดจ้างที่ผู้ประกอบการต้องขึ้นทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลาง เช่น งานก่อสร้าง แต่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลาง 2. การจัดซื้อจัดจ้างกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามวิธีคัดเลือก มาตรา 56 (1) (ค) 3. ผู้ยื่นข้อเสนอขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง เช่น ไม่มีความสามารถตามกฎหมาย เป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น
- ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ได้ยื่นหลักประกันการเสนอราคาหรือยื่นหลักประกันการเสนอราคาไม่เป็นไปตามที่กำหนด 5.ผู้ยื่นข้อเสนอนำผลงานของบุคคลอื่นหรือที่ได้รับโอนจากบุคคลอื่นมายื่นเป็นผลงานของตน 6. การเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างไม่ยอมเข้าทำสัญญาหรือถูกแจ้งเวียนให้เป็นผู้ทิ้งงานก่อนการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ
“ปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิอุทธรณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก บางกรณีมีลักษณะเป็นการประวิงเวลา ก่อให้เกิดความล่าช้าในการจัดซื้อจัดจ้าง ส่งผลกระทบให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐไม่เป็นไปตามกำหนด การปรับปรุงกฎกระทรวงฯ จะช่วยคัดกรองเรื่องที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ออกไปบางส่วน ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐมีความคล่องตัวมากขึ้น ส่วนการยื่นอุทธรณ์ไว้แล้วก่อน 19 เมษายน 2568 และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ดำเนินการพิจารณาอุทธรณ์นั้นต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว.-515-สำนักข่าวไทย