กรุงเทพฯ 10 เม.ย. – กระทรวงอุตสาหกรรม ชง “ซิน เคอ หยวน” เป็นคดีพิเศษ เตรียมร่วมกับดีเอสไอ เก็บตัวอย่างเหล็กเพิ่มพรุ่งนี้ พร้อมจับตาประชุมบอร์ดบีโอไอ พิจารณาเพิกถอนสิทธิบีโอไอ
นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงการดำเนินการตรวจสอบเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ของบริษัท ซิน เคอ หยวน สติล จำกัด ภายหลังการตรวจสอบพบว่า เหล็กข้ออ้อยขนาด 20 และ 32 มิลลิเมตร ที่เก็บตัวอย่างมาจากตึก สตง. ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยระบุอธิบดีกรมโรงงาน ได้ยื่นเอกสารขอให้ดีเอสไอรับ ซิน เคอ หยวน เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากมีความซับซ้อน และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวม หลังพบการดำเนินการผิดกฏหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย, พ.ร.บ.โรงงานฯ และ พ.ร.บ.มาตรฐานอุตสาหกรรม และจากการตรวจสอบยังพบพิรุธ เกี่ยวกับการใช้น้ำของโรงงานที่แทบจะไม่ลดลง และพรุ่งนี้ทีมสุดซอยจะร่วมกับดีเอสไอ ลงพื้นที่อาคาร สตง.ถล่ม เพื่อเก็บตัวอย่างเหล็กเพิ่มเติมใน 4 จุด โดยเฉพาะเหล็กที่ใช้กับเสาปูน เพื่อส่งทดสอบที่สถาบันเหล็ก และเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย โดยจะเป็นการเก็บแบบละเอียดกว่ารอบแรก เนื่องจากการเก็บตัวอย่างเหล็กรอบแรกสามารถเก็บเฉพาะบริเวณด้านหน้ากองซากเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือให้ บ.ซิน เคอ หยวน ชี้แจงข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายเหล็กตั้งแต่ปี 2563 รวมถึงเหล็กที่ล็อตใช้ในอาคารก่อสร้าง สตง.ที่เกิดเหตุถล่ม ซึ่งได้รับการชี้แจงข้อมูล จาก บ.ซิน เคอ หยวน กลับมาวันที่ 7 เม.ย.68 ระบุ ว่า บริษัทไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายเหล็กให้ สตง.โดยตรง และบริษัทอยู่ระหว่างหยุดประกอบกิจการชั่วคราว ซึ่งตนเองมองว่าการให้ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ ไม่ได้เป็นการตอบหรือแจงข้อมูลใดๆ นอกจากนี้ยังได้ขอคำชี้แจงเกี่ยวกับฝุ่นแดง 4 หมื่นกว่าตัน ภายใน 7 วัน ซึ่งครบกำหนดวันนี้แต่ก็ยังไม่มีการชี้แจงใด ๆ จึงเตรียมใช้กฏหมาย สมอ.มาตรา 56 เอาผิดฐานไม่ให้ข้อมูล
ส่วนกรณีที่มีข่าวระบุว่า สมอ. ต่อใบอนุญาต มอก.ให้กับบริษัทฯ เมื่อ มกราคม 68 ยืนยันไม่เป็นความจริง โดยบริษัทดังกล่าวปัจจุบันถูกแจ้งเตือนก่อนสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา 40 กรณีผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานห้ามผลิตห้ามจำหน่ายสินค้าเหล็กเส้นที่ทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน เมื่อ 20 ก.พ.68 ซึ่งไม่ใช่การต่ออายุใบอนุญาตแต่อย่างใด และเมื่อวาน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการหารือ และแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับ ซินเคอหยวน และบริษัทอื่น ๆ โดยพบกรรมการฯ บริษัทซินเคอหยวน มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทเหล็กอีก 4 แห่ง ซึ่งจะต้องมีการขยายผลตรวจสอบโดยละเอียด ส่วนประเด็นการขอระงับและเพิกถอนสิทธิ บีโอไอ คาดว่า บอร์ดบีโอไอจะมีการพิจารณาวันพรุ่งนี้ ส่วนเหตุผลประกอบการเสนอคือ การผิดเงื่อนไขการขอลงทุน และไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมสั่งปิดโรงงานเหล็กไปแล้ว 7 แห่ง โดยเป็นโรงงานสัญชาติจีน 4 แห่ง ส่วนอีก 3 แห่ง เป็นของคนไทย หลังจากนี้จะมีการตรวจมาตรฐานผลิตภันฑ์เหล็กทุกโรงงาน เพื่อมาตรฐานความปลอดภัยของคนไทย
สำหรับมาตรการต่อไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมพิจารณา ปรับปรุงมาตรฐานเหล็กเส้น จากเตาหลอมเหล็ก ชนิด
Induction Furnace (IF) เป็นเตาหลอมโลหะที่ใช้การเหนี่ยวนำทางไฟฟ้าเพื่อให้เกิดความร้อนจนโลหะหลอมละลาย โดยใช้การเหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็กและเกิดความร้อนจากความต้านทานไฟฟ้าของโลหะชนิดนั้น เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีเก่า ก่อเหิดมลพิษ และไม่สามารถหลอมเหล็กให้มีความบริสุทธิ์ เทียบเท่าเตาหลอมแบบ Electric Arc Furnace หรือเตา EF ใช้ความต่างศักย์ทางไฟฟ้าระหว่างแท่งอิเล็กโทรดกับเศษเหล็ก เพื่อทำให้เหล็กละลาย ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลก. -517-สำนักข่าวไทย