กรุงเทพฯ 8 เม.ย. – หุ้นไทยเปิดตลาดร่วง 51 จุด เช้านี้ ดัชนี SET อ่อนค่าสุดที่ 1,074 จุด ทองคำร่วง-บาทอ่อนค่าลงหนัก ผันผวน ผลกระทบการขึ้นภาษีของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เพราะหวั่นเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ในรอบ 100 ปี โบรกเกอร์ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET อาจหลุด 1,000 จุด หากภาษีสหรัฐกระทบยาวนาน ลุ้นไทยหลุด
หุ้นไทยเปิดตลาดร่วง 51 จุด ในเช้านี้ ดัชนี SET อ่อนค่าสุดที่ 1,074 จุด แม้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดการณ์ล่วงหน้าว่าหุ้นไทยจะผันผวนตามตลาดโลก และมาตรการเพื่อรองรับความผันผวนจาก Trump’s Tariff Effect บังคับใช้ ทั้งการซื้อขายหลักทรัพย์ฯ และตลาดสัญญาซื้อขายล่วง TFEX ในช่วงวันที่ 8-11 เม.ย.68 โดยปรับราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด Ceiling/Floor ลดลงครึ่งหนึ่ง จาก 30% เหลือ 15% ,ปรับกรอบราคา Dynamic Price Band ลดลงครึ่งหนึ่งจาก 10% เหลือ 5% , ไม่อนุญาตให้ Short Sell ยกเว้น Market Maker ส่วนตลาด TFEX ทั้ง Index Futures/Options Sector Futures Single Stock Futures ปรับ Ceiling/Floor ลดลงครึ่งหนึ่ง สำหรับ Equity based product จาก 30% เหลือ 15%
วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผอ.อาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ฯ บลป.เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ในขณะนี้รอข่าวความชัดเจนการเจรจาลดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าในช่วงบ่ายวันนี้รัฐบาลจะแถลงแนวทางการเจรจา ส่วนในวันพรุ่งนี้ (9 เม.ย.) ซึ่งเป็นวันที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทย 36% เป็นวันแรก น่าจะไม่กระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก เพราะตลาดตอบสนองต่อข่าวลบนี้ไปมากแล้ว ซึ่งการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทยที่ 36% ถือได้ว่าเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดแล้ว หากการเจรจากับสหรัฐฯ สามารถลดภาษีลงได้ครึ่งหนึ่ง หรือเหลือในระดับ 20% ตลาดหุ้นจะเบาใจขึ้นมาก โดยคาดว่าผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม จะเห็นได้ชัดในช่วงการประกาศตัวเลขส่งออกปลายเดือน พ.ค.นี้


สำหรับการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor, Dynamic Price Band และห้ามขายชอร์ต เป็นการชั่วคราว เพื่อรองรับความผันผวนของตลาดหุ้นไทย ถือได้ว่าเป็นการตอบสนองรับมือได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความแตกตื่นของตลาดได้
บล.กรุงไทยเอ็กสปริงส์ คาดหากภาษีสหรัฐที่ขึ้นกับไทยถึง 36% จะผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่รุนแรง คิดเป็นประมาณการ GDP ที่ 1.4% ในระยะสั้นประเมินกรอบแนวรับ SET ที่บริเวณ 1,050 จุด ในกรณีเลวร้ายที่ไทยโดนภาษีระยะยาว ระดับแนวรับจะใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดช่วง COVID ที่ 960 จุด
บล. เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 68 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ (policy panic)
“ดัชนี SET ยังมีโอกาสปรับตัวลงต่อ เนื่องจาก P/E ปัจจุบันที่ 12.2 เท่า ยังคงสูงกว่าระดับ 10-11 เท่าที่จะถือว่า “ถูกจริง” คาดว่าความผันผวนจะยังสูง โดยเฉพาะในไตรมาส 2/68 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เช่น การเจรจาภาษี ผลประกอบการ บจ.และ GDP ที่อาจกดดันให้ภาครัฐออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง SET อาจร่วงลงไปที่ 1,000 จุด แรงหนุนเดียวที่อาจช่วยพยุงตลาดได้คือ การที่นักลงทุนกลับเข้าซื้อเมื่อมูลค่าตลาด (valuation) อยู่ในระดับที่ถูกเกินไปหากเทียบกับมูลค่าพื้นฐานซึ่งประเมินว่าอยู่ที่ระดับ P/E 10-11 เท่า หรือที่ดัชนี SET 1,000 จุด หรือการที่ผู้กำหนดนโยบายออกมาตรการกระตุ้นอย่างเร่งด่วนและเร็วกว่าที่คาด” รายงาน ระบุ
นอกจากนี้ บล.เกียรตินาคินภัทรคาดว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุม กนง. ช่วงกลางปี อาจช่วยให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยายตัว (yield curve steepening) และหนุนดัชนี SET ได้ แต่จนกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะชัดเจน แนะนำให้เน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นปลอดภัย โดย กนง.จะประชุม วันที่ 30 เมษายน ซึ่งอาจมีนโยบายเร่งด่วนออกมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งหนัก ในขณะที่จีนประกาศมาตรการตอบโต้โดยจะเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ทั้งหมด ในอัตรา 34% เริ่ม 10 เม.ย. และเพิ่มความเข้มงวดกับการส่งออกแร่ธาตุหายาก 7 ชนิด ด้านทรัมป์ ย้ำเพิ่มภาษีจีนอีก 50% ถ้าจีนไม่เลิกตอบโต้
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ (ณ วันศุกร์ที่ 4 เมษายน) กดดันโดยการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการรีบาวด์สูงขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี ขณะเดียวกัน ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรับ (เฟด) ในช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็สะท้อนว่า เฟดยังมีความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากแนวโน้มนโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้เฟดยังไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เพิ่มแรงกดดันต่อเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท ยังคงเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลง ในลักษณะ “Two-Way Volatility” ขึ้นกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงิน และมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด แนะนำว่าผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.20-35.00 บาท/ดอลลาร์
ด้าน ราคาทองคำในไทย ผันผวน ร่วงลงตาม ตลาดโลกเปิดตลาดวันนี้ ร่วง 550 บาท/บาททองคำ จนถึง เวลา 09.59 น.วันนี้ ทองแท่ง ขายออก บาทละ 49,150 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 49,950 บาท ในขณะที่ราคาปิดวานนี้ (7 เม.ย.) ของสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน มิ.ย. ร่วงลง 61.80 ดอลลาร์ หรือ 2.04% ปิดที่ 2,973.6 ดอลลาร์/ออนซ์ นับเป็นราคาปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันจันทร์ ตลาดเริ่มเทขายทองคำและหันไปถือครองสกุลเงินที่ปลอดภัย รวมถึงสกุลเงินดอลลาร์ เพราะคาดมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะถดถอย จากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ. -511-สำนักข่าวไทย