กรุงเทพฯ 27 มี.ค. – “อัสสเดช” เชื่อมั่น ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก.เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. สกัดปั่นหุ้น ฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุนไทย เพิ่มประสิทธิภาพกำกับดูแลการซื้อขาย
สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (27 มี.ค.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ชุดยกระดับการกำกับดูแลกิจการและมาตรการบังคับใช้กฎหมาย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอนั้น นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลดีต่อตลาดทุนโดยรวม เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องของการกำกับดูแลการซื้อขายและการตรวจสอบการทำธุรกรรมของบริษัทจดทะเบียนแล้ว ยังจะช่วยให้การดำเนินการทางคดีและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดในตลาดทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้รวดเร็วมากขึ้น อันจะช่วยป้องปรามให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว โดยมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดเพิ่มเติมในร่างกฎหมายดังกล่าว สามารถจะเสริมสร้างความเชื่อมั่น (Trust & Confidence) ให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนของตลาดทุนไทยในขณะนี้
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการของร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน และความน่าเชื่อถือในตลาดทุน ตลอดจนมีมาตรการที่สามารถยับยั้งการกระทำผิดในตลาดทุนเพื่อรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจในประเทศ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ในประเด็นดังนี้
(1) การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและการกำกับดูแลการขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง (การขายชอร์ต)
(2) การยกระดับการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน เพิ่มความเข้มแข็งของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน
(3) การกำหนดสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ครอบคลุมถึงการดำเนินการแทนผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลาย
(4) การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.
(5) การเพิ่มมาตรการทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการกระทำความผิดและยับยั้งความเสียหายและการมอบหมายบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินที่ยึดอายัด
(6) การสอบสวนคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนหรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
(7) มาตรการการลงโทษกรณีมีการปฏิบัติฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ ซึ่งมาตรการทางกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจะเป็นเครื่องมือในการยับยั้งความเสียหายและบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในการกระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจสามารถบรรลุผลได้อย่างแท้จริง อันจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมันให้นักลงทุนในตลาดทุนและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดทุนให้กลับมามีเสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงในหลาย ๆ มิติ ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับการกำกับดูแลการขายชอร์ตเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโปร่งใส ด้านการกำกับผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนเพื่อยกระดับการทำหน้าที่ตรวจสอบและป้องกันการทุจริตของบริษัทจดทะเบียน การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่สำคัญ ครบถ้วนและเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ด้านมาตรการทางกฎหมายเพื่อยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมของบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเพิ่มอำนาจในการทำคดีของ ก.ล.ต. จะช่วยให้การดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้น และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานในการช่วยบรรเทาผลกระทบต่อตลาดทุนได้กรณีมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อีกทั้งการเสริมสร้างตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย.-511-สำนักข่าวไทย