กรุงเทพฯ 27 เม.ย. – กลุ่มยานยนต์หวั่นกระทบหนัก จากสหรัฐขึ้นภาษีรถยนต์และชิ้นส่วน 25% เริ่ม 2 เม.ย. ซ้ำเติมยอดผลิตหดตัว กระทบแรงงาน 8.5 แสนคน หน่วยงานวิจัยคาดกระทบจีดีพีไทยราว 0.6% ชี้แรงกระแทกภาษีสหรัฐ-นักท่องเที่ยวจีนหดตัว อาจทำให้จีดีพีไทยโตไม่ถึง 2.8% กนง.อาจลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง เพื่อพยุงเศรษฐกิจ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า น่าเป็นห่วงการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยจะลดลงอีก หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำสหรัฐ ประกาศเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ทั้งหมด 25% ในวันที่ 2 เมษายน รวมถึงชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ อาทิ เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ชิ้นส่วนเกียร์ และส่วนประกอบทางไฟฟ้า ซึ่งจะกระทบทั้งการจ้างงานและเศรษฐกิจ จากที่ปัจจุบันมีผลกระทบอยู่แล้วจากยอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์ของไทยที่ลดลงหนัก โรงงานมีทั้งทยอยปิดตัวและลดกำลังผลิต ต้องลดเงินเดือน ลดการจ้างงานเหลือสัปดาห์ละ 3-4 วัน
ทั้งนี้ คำสั่งของทรัมป์ ขึ้นทั้งภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนจะกระทบทั้งการส่งออกไปสหรัฐโดยตรงและกระทบต่อการส่งออกชิ้นส่วนไปประเทศ คู่ค้าหลักอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าไปสหรัฐ โดยปี 67 ไทยส่งออกสหรัฐ ในรูปรถยนต์ 320 ล้านเหรียญ ชิ้นส่วนยานยนต์ 1,566 ล้านเหรียญ (สหรัฐตลาดส่งออกอันดับ 1), เครื่องยนต์สันดาปภายใน 231 ล้านเหรียญ, ส่งออกชิ้นส่วนฯ ไปญี่ปุ่น มูลค่า 1,211 ล้านเหรียญ ส่งออกชิ้นส่วนไปเยอรมัน 80 ล้านเหรียญฯ อังกฤษ 52 ล้านเหรียญ แคนาดา 33 ล้านเหรียญ เวียดนาม 39 ล้านเหรียญ
นอกจากส่งออกยานยนต์ไทยคาดว่าจะหดตัวแล้ว การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศก็หดตัวหนัก ได้รับผลกระทบจากคู่แข่งอีวีจากจีน ,ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ทำให้ การกู้เงินไม่ผ่าน รถกระบะถูกปฏิเสธสินเชื่อถึง 50% ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 67-68) ไฟแนนซ์ไม่ปล่อยกู้ รถกระบะราว 2.5 แสน ส่งผลดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมติดลบ ยอดขายในประเทศปี 67 อยู่ที่ 5.7 แสนคัน จากที่ปี 62 ขายได้กว่า 1 ล้านคัน ยอดส่งออกปี 67 ส่งออกได้กว่า 1 ล้านคัน ปีนี้ก็คาดว่าจะส่งออกไม่ถึง 1 ล้านคัน- ทั้งนี้ หากมองไปถึงทรัมป์ 1.0 ช่วงนั้นสงครามการค้าก็ทำให้ยอดส่งออกหดตัวกว่า 8 หมื่นคัน จากที่เคยส่งออกได้ 1.138 ล้านคัน ก็ลดลงเหลือ 1.054 ล้านคัน ในปี 61 ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์มีซัพพลายด์เชน เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก แรงงานรวม 850,000 คน ก็เกรงว่าจะได้รับผลกระทบไปด้วย
“ขณะนี้รอดูประกาศของสหรัฐเรื่องขึ้นภาษีที่ชัดเจน หากไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนทุกประเทศ แน่นอนก็กระทบต่อการส่งออกทั้งรถยนต์และชิ้นส่วนของไทย ที่ทำรายได้ส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรถที่ส่งออกไปสหรัฐจากไทยเป็นรถเก๋งขนาดเล็ก ไม่มีคู่แข่ง หากโดนภาษีก็คงไม่มากนัก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการส่งออกชิ้นส่วนทั่วโลกที่จะกระทบหนัก”
การผลิตรถยนต์ของไทยเดือน ก.พ.68 มีทั้งสิ้น 115,487 คัน ลดลง 13.62% ผลิตขายในประเทศลดลง 21.26% โดยเฉพาะรถกระบะที่ยังคงลดลง 42.10% ผลิตส่งออกลดลง 9.48% ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ผลิต 2 เดือนแรกของปีนี้มีทั้งสิ้น 222,590 คัน ลดลง 19.29%
สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทย สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนราว 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดยปี 2567 มีมูลค่า 54,956.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้า สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 ของไทย มีสัดส่วนราว 6% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด หรือมีมูลค่า 19,528.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 35,427.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่อันดับที่ 12 ของโลก
ก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบหากทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ว่าจะกระทบส่งผลกระทบต่อ จีดีพีราว 0.6% และประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่ปัจจุบันมองไว้ที่ 2.4% มีความเสี่ยงที่จะลดลง แต่จะยังอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 2.0% การส่งออกรถยนต์ไทยไปสหรัฐ ปี 2568 มีโอกาสหดตัว โดยสหรัฐอาจผลิตเพิ่มในประเทศทดแทน ทั้งนี้ ในปี 2567 ไทยส่งออกรถยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี ไปสหรัฐ ประมาณ 42,000 คัน
นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่าจากความเสี่ยงของสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น TISCO ESU ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิมที่คาดไว้ 3.0% โดยยังไม่นับรวมหากสหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยโดยตรง และมองว่า GDP ยังมีดาวน์ไซด์มีความเสี่ยงที่จะเติบโตได้เพียง 2.1% ต่ำกว่าปี 67 ที่ขยายตัว 2.5%
โดยความเสี่ยงที่จะกระทบต่อ GDP ไทยปีนี้ ได้แก่ ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่อาจพลาดเป้า จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง มองว่าอาจต้องปรับลดเป้านักท่องเที่ยวลงประมาณ 2 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯ (Reciprocal Tarif) ซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.35-0.50 % โดยความเป็นไปได้ที่สหรัฐ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากไทยเพิ่ม ต้องดูที่ส่วนต่างอัตราภาษีระหว่างสหรัฐและไทย ที่เรียกเก็บในปัจจุบันซึ่งมีส่วนต่างประมาณ 5% อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับสินค้าที่ถูกเรียกเก็บเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันสินค้าหลักที่ถูกส่งออกไปยังสหรัฐ อาทิ เครื่องจักร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล โซลาร์รูฟท็อป ยางพาราโดยเฉพาะยางรถยนต์ กลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงเป็นอันดับต้น ๆ
อีกทั้งยังมีความกังวลจากภาคการผลิตซึ่งชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 67 และนำเข้ามากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าจากจีน และการลงทุนจากต่างประเทศ หากไทยถูกเรียกเก็บภาษี ประเมินว่ามีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะยกเลิกแผนการลงทุน ในหลายอุตสาหกรรม ในขณะที่นโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หลังมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 2.00% ในการประชุมครั้งแรกของปีไปแล้ว แต่หากเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ที่ 2.8% คาดว่า กนง.อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% ตลอดทั้งปี แต่หากจีดีพีลดลงอีก กนง.อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกราว 1-2 ครั้ง ในปีนี้หรือลงมาอยู่ที่ 1.50-1.75% ต่อปี ต้องจับตารายละเอียดนโยบายสงครามการค้าของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายนนี้.-511-สำนักข่าวไทย