กรุงเทพฯ 27 มี.ค. – ศูนย์อสังหาฯ หวังตลาดที่อยู่อาศัยปี 68 โตร้อยละ 2.2-3.2 รับแนวโน้มดอกเบี้ยลดลง สภาพัฒน์ หวั่นสหรัฐเก็บภาษีนำเข้า กระทบกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ต้องทบทวนจีดีพี พ.ค.นี้
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า หลังจาก ธปท.ผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ค.68-30 มิ.ย.69 จะทำให้บ้านราคาสูงออกสู่ระบบได้มากขึ้น และภาคอสังหาฯ มีความเชื่อมั่นสร้างโครงการใหม่เพิ่ม ธอส. มองว่า กนง.อาจลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ ดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ตลาดอสังหาฯ ในปีนี้ต้องดีกว่าปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2-3.2 จากการลงทุนภาครัฐ การลงทุนเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัว ศูนย์อสังหาริมทรัพย์ จึงมองภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในปี 68 และตลาดอสังหายังลุ้นการลดค่าธรรมเนียมการโอน จดจำนองร้อยละ 0.01 เพื่อเป็นแนวทางกระตุ้นภาคอสังหาฯ
ธอส.กำหนดเป้าหมายปล่อยสินเชื่อในปี 68 วงเงิน 240,000 ล้านบาท สูงกว่าปี 67 ปล่อยกู้ไปแล้ว 236,000 ล้านบาท นับว่าเป็นเป้าหมายท้าทายมาก ธอส. ยังเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ NPL หลังจากสิ้นปี 67 ต่ำกว่าร้อยละ 5 จาก 5 เดือนสุดท้ายปลายปีอยู่ที่ร้อยละ 6 หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยยังมุ่งใช้โมเดลของ ธอส.แก้ปัญหาหนี้ เช่น การเข้าโรงเรียนการเงิน สำหรับผู้มีคุณสมบัติไม่ผ่าน เมื่อเข้าอบรมในโรงเรียนการเงินมาแล้วทำให้กู้ได้นับหมื่นราย ศูนย์อสังหาฯ มองว่า การลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 68 เพิ่มจากปี 67 ร้อยละ 16.8 หรือประมาณ 73,291 หน่วย มูลค่า 519,692 ล้านบาท


นายพีรพัฒน์ ตัณฑวณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลองเศรษฐกิจ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าหลังจากสภาพัฒน์คาดการณ์จีดีพีในปี 68 ร้อยละ 2.8 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.5-1.5 ส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.5 ในเดือนพฤษภาคมนี้ สภาพัฒน์ ต้องปรับคาดการณ์ใหม่อีกครั้ง หลังจาก ”ทรัมป์“ ออกมาตรการเก็บภาษีนำเข้ากับหลายประเทศ โดยเฉพาะภาษีนำเข้ารถยนต์ร้อยละ 25 โดยกังวลชิ้นส่วนยานยนต์ไทยส่งออกไปยังสหรัฐมากที่สุดทำให้สินค้าส่งไปสหรัฐราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จึงกังวลสงครามทางการค้าทวีความรุนแรง และประเมินการย้ายฐานการผลิตของจีนและหลายประเทศ นับเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างมาก จึงต้องปรับเป้าหมาย จีดีพีปี 68 ในเดือนพฤษภาคมนี้
สภาพัฒน์ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง แต่ยังมีปัจจัยบวก เรื่องเงินลงทุนและงบประมาณจากภาครัฐออกสู่ระบบในปีนี้เพิ่มร้อยละ 30 โดยนี้เอสเอ็มอีร้อยละ 20 ของเอสเอ็มอี เป็นหนี้ NPL นับว่าปีก่อนการปล่อยกู้ลดลงทุกกลุ่ม ทั้งสินค้ากลุ่มบริโภค สินเชื่อรถยนต์ เมื่อปริมาณน้ำดี เขื่อนทุกเขื่อนน้ำยังมีเพียงพอ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีผลผลิตดี ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง จึงอยากให้รัฐบาลเร่งการการลงทุน หลังจากได้รับบีโอไอไปแล้ว ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง การผลักดันการลงทุนในเขตอีอีซี รวมถึงเร่งรัดก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะทำให้อสังหาฯในภาคตะวันออกเติบโตตามไปด้วย.-515 -สำนักข่าวไทย