กรุงเทพฯ 25 ก.พ.-คปภ. ยกระดับการตรวจสอบประกันภัยผ่าน Examination Form ป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ – คุ้มครองผู้เอาประกันภัย เริ่มไตรมาส 1/68
นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมายและตรวจสอบ สำนักงาน คปภ. เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดทิศทางและการดำเนินงาน ด้วยการยกระดับการตรวจสอบและการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยผ่านแบบประเมิน Examination Form จึงได้มอบหมายให้สายตรวจสอบ ใช้การประเมินการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อย และหน่วยงานกำกับภายใน (Key Control Function) ของบริษัทประกันภัย ในมิติของการปฏิบัติตามกฎหมายของบริษัทประกันภัยที่ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายของสำนักงาน คปภ.
โดยแบบประเมินดังกล่าวถูกพัฒนาให้มีข้อคำถามที่สะท้อนถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อย และหน่วยงานกำกับภายใน (Key Control Function) เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทประกันภัยมีระบบการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายในที่เหมาะสม รวมถึงดูแลให้ระบบต่างๆ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรการถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) มุ่งเสริมสร้างความโปร่งใส มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงมีการกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อผู้เอาประกันภัย อันนำมาซึ่งเสถียรภาพความมั่นคง ปรับตัวได้ เท่าทันความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของบริษัทประกัน
ปัจจุบัน สายตรวจสอบ ได้พัฒนาแบบประเมิน Examination Form เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีการประเมินใน 9 ส่วน ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการบริษัท 2) คณะกรรมการตรวจสอบ 3) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง 4) คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัย 5) คณะกรรมการลงทุนและคณะกรรมการสินเชื่อ 6) หน่วยงานตรวจสอบภายใน 7) หน่วยงานบริหารความเสี่ยง 8) หน่วยงานคณิตศาสตร์ประกันภัย และ 9) หน่วยงานดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย
โดยจะมีการจัดส่งแบบประเมิน Examination Form ให้บริษัทประกันภัยจัดทำเป็นประจำทุกไตรมาส เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2568 เป็นต้นไป กำหนดระยะเวลาให้บริษัทประกันภัยจัดทำให้แล้วเสร็จและนำส่งมายังสำนักงาน คปภ. ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568 และเพื่อให้การตอบแบบประเมินมีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นการให้บริษัทประกันภัยเป็นผู้ประเมินตนเอง สำนักงาน คปภ. กำหนดให้ข้อคำถามบางข้อบริษัทต้องแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบการตอบแบบสอบถาม
สำนักงาน คปภ. โดยสายตรวจสอบจะรวบรวมผลการตอบแบบประเมิน Examination Form มาใช้ในการประเมินความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ ของสายตรวจสอบที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ แบบประเมินตนเองระดับองค์กร (Self-Assessment Questionnaire: SAQ) และแบบประเมินตนเองระดับกิจกรรม (Risk and Control Matrix: RCM) เพื่อนำมากำหนดมาตรการในการตรวจสอบและกำกับดูแลตามความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยต่อไป
“ผลของการยกระดับการตรวจสอบและการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยผ่านแบบประเมิน Examination Form ไม่เพียงช่วยให้สำนักงาน คปภ. มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการติดตามและตรวจสอบตามความเสี่ยง แต่ยังช่วยให้บริษัทประกันภัยมีเครื่องมือในการติดตามประเมินการปฏิบัติงานด้วยตนเอง และช่วยให้อุตสาหกรรมประกันภัยมีมาตรฐานและแนวปฏิบัติในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อย และหน่วยงานกำกับภายใน (Key Control Function) ที่เป็นไปในทิศทางตามแนวทางสากล สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เอาประกันภัย ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมประกันภัยด้วย” นายอดิศร กล่าว.-515.-สำนักข่าวไทย