กระทรวงการคลัง 28 ก.ย. – กระทรวงการคลังเผยยอดเก็บรายได้
11 เดือนแรกปีงบประมาณ 2560 ทำได้กว่า 2 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าเล็กน้อย แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีงบประมาณ 2559 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในภูมิภาคดีขึ้นทุกภาค
นายกฤษฎา
จีนะวิจารณะ ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวง การคลัง
เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง
11
เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – สิงหาคม 2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ
จำนวน 2,132,067 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,961 ล้านบาท มีสาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น
การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ
และการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตสูงกว่าประมาณการตามลำดับ
โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมัน
ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเบียร์ อย่างไรก็ตามรายได้นำส่งคลังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ
2559 จำนวน 59,084 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.8)
ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากรายได้พิเศษจากการประมูลคลื่นความถี่ 3G 4G และเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาต TV Digital ในปีก่อน แต่หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว
รายได้นำส่งคลังปีนี้จะสูงกว่าปีก่อน จำนวน 77,677 ล้านบาท
หรือร้อยละ 3.9
ขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 2,679,296 ล้านบาท
คิดเป็นร้อยละ 93.3
ของงบประมาณประจำปี 2560 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน
462,681 ล้านบาท
ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2560 มีจํานวนทั้งสิ้น 315,392 ล้านบาท
ทั้งนี้ เงินคงคลังในปัจจุบันที่มีจำนวนกว่า 315,000 ล้านบาท
และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2559 อยู่ประมาณ 12,000 ล้านบาท
สะท้อนให้เห็นถึงฐานะการคลังที่เข้มแข็งและพอเพียงสำหรับการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงต่อไป
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค เดือนกันยายน
2560 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังร่วมกับกรมบัญชีกลาง โดยสำนักงานคลังจังหวัด 76
จังหวัดทั่วประเทศพัฒนาเครื่องมือติดตามภาวะเศรษฐกิจใหม่
เพื่อสะท้อนการคาดการณ์กิจกรรมทางเศรษฐกิจรายภูมิภาคในอนาคต (6 เดือนล่วงหน้า)
จากการรวบรวมข้อมูลตรงของทุกจังหวัดทั่วประเทศ ผลการสำรวจล่าสุดประจำเดือนกันยายน
2560 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า)
อยู่ในระดับที่ดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง
ซึ่งอยู่ที่ 87.9 จากดัชนีแนวโน้มที่ดีขึ้นของภาคบริการ ซึ่งอยู่ที่ 97.7
โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่พบว่าหลายจังหวัดเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
รวมถึงการลงทุนภายในภูมิภาค ส่งสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง
ตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มการลงทุนอยู่ในระดับสูงที่
98.6
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก
อยู่ที่ 82.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากด้านการท่องเที่ยวในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
มีแนวโน้มสดใส เนื่องจากหลายจังหวัดในภูมิภาคจะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
ส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มภาคบริการของภูมิภาค ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 97.6
ประกอบกับแนวโน้มด้านการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนมีทิศทางที่ดี
ตามจำนวนโรงงานที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับแนวโน้มของการผลิตภาคบริการ อุตสาหกรรม
และการลงทุนภายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงส่งสัญญาณดีขึ้น
ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 75.7
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ
อยู่ที่ 74.9 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคบริการ ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 85.1
โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวและค้าปลีกค้าส่งที่มีแนวโน้มที่ดี
เนื่องจากหลายจังหวัดจะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลการท่องเที่ยว
รวมถึงภาคเกษตรที่มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ อยู่ที่ 71.3
ตามแนวโน้มที่ดีของภาคบริการ
นำโดยการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ จากแนวทางการสนับสนุนของนโยบายภาครัฐ เช่นเดียวกับแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมภายในภูมิภาค
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ 70.6
ตามแรงสนับสนุนจากแนวโน้มของภาคการจ้างงานภายในภูมิภาค ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีที่
86.7 จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในหลายจังหวัดและแนวโน้มที่ดีของภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนหลักของภูมิภาค นอกจากนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑล ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 61.5
จากแนวโน้มในภาคการจ้างงาน ส่งสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 81.8
เนื่องจากภาคการผลิตมีการเพิ่มกำลังการผลิต-สำนักข่าวไทย