เชียงใหม่ 29 พ.ย. – ครม.เห็นชอบโครงการชะลอการขายข้าว ข้าวเปลือกหอมมะลิ 12,500 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 9,000 บาทต่อตัน รับเงินค่าฝากข้าวในยุ้งฉาง 1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก ยืม ธ.ก.ส. 9,019 ล้านบาท
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ผ่านมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 จำนวน 9,019 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. และ ธ.ก.ส.ขอรับจัดสรรงบประมาณภายหลัง ดำเนินการผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 วงเงินรวม 8,362 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 วงเงิน 656 ล้านบาท
เป้าหมายชะลอการขายข้าวเปลือก 3 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 25,481 ล้านบาท เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ครม.เห็นชอบถึง 28 ก.พ.68 ชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 5 เดือน โดยกำหนดราคราขายข้าว ดังนี้
ข้าวเปลือกหอมมะลิ 12,500 บาทต่อตัน
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 11,000 บาทต่อตัน
ข้าวเปลือกปทุมธานี 10,000 บาทต่อตัน
ข้าวเปลือกเจ้า 9,000 บาทต่อตัน
ข้าวเปลือกเหนียว 10,000 บาทต่อตัน
โดยรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้กู้ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเองได้รับเต็มจำนวน สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกเข้าโครงการได้รับในอัตรา 1,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก และเกษตรกรผู้ขายข้าวได้รับในอัตรา 500 บาทต่อตันข้าวเปลือก กรณีราคาข้าวเปลือกในตลาดต่ำกว่าราคาข้าวเปลือกที่ให้สินเชื่อ ธ.ก.ส. จะดำเนินการระบายข้าวเปลือก และสำรองจ่ายค่าขนย้ายข้าวเปลือกไปก่อน โดยรัฐจะชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส
ที่ประชุม ครม.ยังรับทราบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาและส่งเสริมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 และอนุมัติการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 รวม 320 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ รายละไม่เกิน 230,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันกู้ โดยคิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการในอัตรา MRR (ปัจจุบัน MRRเท่ากับร้อยละ 6.975 ต่อปี) ซึ่งเกษตรกรผู้กู้รับภาระในอัตรา MRR – อัตราขอชดเชยต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. เพิ่มเติมในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน .-515 สำนักข่าวไทย