กรุงเทพฯ 27 ก.ย.- ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตบอร์ด-ผู้บริหาร SLM กับพวก รวม 9 ราย ต่อ DSI กรณีทุจริตผ่านธุรกรรมต้องสงสัยรวม 5 รายการ พร้อมส่งเรื่องต่อ ปปง.
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งกว่าได้ กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท เอส แอล เอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SLM) (เดิมชื่อบริษัท ชูโอ เซ็นโก (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (CHUO)) กับพวกรวม 9 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำทุจริตผ่านธุรกรรมต้องสงสัย 5 รายการ ทำให้ SLM ได้รับความเสียหายมูลค่าประมาณ 110 ล้านบาท พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบพบพยานหลักฐานว่า ในช่วงปี 2559-2560 กรรมการและผู้บริหาร SLM ในขณะนั้นรวม 2 ราย ได้แก่ Mr. Katsuyuki Mizumachi ประธานกรรมการบริหาร และ Mr. Kiichi Okuyama ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน กับพวกอีก 7 ราย ที่ได้ร่วมกัน และ/หรือ เข้าไปให้การช่วยเหลือสนับสนุนการทำธุรกรรมของกรรมการทั้งสองรายดังกล่าวแล้วแต่กรณี ได้แก่ Mr. Liam Dwyer Orton, Mr. John Worrall D’Arcy Grove, Mr. Mohammed Salamat Ali, Mr. Haruhiko Shin, นายสมบูรณ์ โป้บุญส่ง, นายเจษฎา ดาวแก้ว, และบริษัท ชูโอ เซ็นโก แอดเวอร์ไทซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (CSA) (อดีตบริษัทย่อยของ SLM) กระทำการโดยทุจริตผ่านธุรกรรมต้องสงสัยรวม 5 รายการ ได้แก่
(1) กรณีลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท JRA (Fiji) Consultants ซึ่งจดทะเบียนที่สาธารณรัฐฟิจิ และพบว่าเป็นบริษัทที่ไม่มีอยู่จริง มูลค่าความเสียหายประมาณ 21 ล้านบาท
(2) กรณีลงทุนซื้อหุ้นที่จดทะเบียนและหุ้นเพิ่มทุนในอนาคตของบริษัท แซมส์ สปอร์ต รีเทล จำกัด (SAMS) และกรณีสั่งซื้อรองเท้าจากบริษัท SAMS ที่พบว่าไม่สมเหตุสมผลในการเข้าทำรายการและไม่มีเจตนาทำธุรกรรมจริง รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 42 ล้านบาท
(3) กรณีทำธุรกรรมผ่องถ่ายเงินผ่านการขอเงินเพิ่มทุน การทำ License Agreement (สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ) และการทำ Subcontract Agreement (สัญญาจ้างเหมาช่วง) ของบริษัทย่อยรายบริษัท ดิจิตอล ดรีม จำกัด ที่พบว่าไม่ได้มีเจตนาทำธุรกรรมจริง แต่เพื่อต้องการผ่องถ่ายผลประโยชน์ไปให้ Mr. John Worrall D’Arcy Grove และบุคคลอื่น รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 33.4 ล้านบาท
(4) กรณีโอนสิทธิการเช่าพื้นที่สำนักงานให้แก่ CSA ซึ่งพบว่าเป็นธุรกรรมที่เป็นการผ่องถ่ายผลประโยชน์ให้แก่ CSA (ในขณะนั้นไม่ได้เป็นบริษัทย่อยของ SLM แล้ว) มูลค่าความเสียหายประมาณ 11.9 ล้านบาท และ
(5) กรณีการทำสัญญาให้บริการเครือข่าย (Network Service) กับ CSA ซึ่งภายหลังพบว่ามีคำพิพากษาของศาลโดยคดีถึงที่สุดแล้วว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากการแสดงเจตนาลวงของอดีตกรรมการราย Mr. Katsuyuki Mizumachi (นายคะซูยูกิ มิซูมาชิ) จึงเป็นการทุจริตผ่องถ่ายผลประโยชน์ไปให้แก่ CSA (ในขณะนั้นไม่ได้เป็นบริษัทย่อยของ SLM แล้ว) มูลค่าความเสียหายประมาณ 2 ล้านบาท
ทั้งนี้ การทำธุรกรรมข้างต้นทั้ง 5 รายการ ทำให้ SLM ได้รับความเสียหายเป็นมูลค่ารวมประมาณ 110 ล้านบาท การกระทำของกรรมการและผู้บริหาร SLM รวมถึงบุคคลและนิติบุคคลรวม 9 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 307 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/24 ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) และมาตรา 83 หรือมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจและไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี นับตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวต่อ DSI.-511- สำนักข่าวไทย