นนทบุรี 18 ก.ย. – สำนักงาน ก.พ.ร. จัดงานเสวนาวิชาการและพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 โดยมีผลงานที่โดดเด่นจากหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับการยกย่องในฐานะหน่วยงานต้นแบบที่มีผลการทำงานที่เป็นเลิศ ซึ่งปีนี้กรมอนามัย สำนักงานอาหารและยา และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) คว้ารางวัลเกียรติยศเลิศรัฐไปครอง
สำนักงาน ก.พ.ร. การจัดงานเสวนาวิชาการและพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 ตามแนวคิด “Transforming Public Service for Sustainability: พลิกโฉมบริการภาครัฐ สู่ความยั่งยืน” ณ ห้องรอยัล อิมแพคเมืองทองธานี โดยมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ภายในงานมีช่วงเสวนาวิชาการที่น่าสนใจ 2 หัวข้อ ประกอบด้วย หัวข้อแรก “พลิกโฉมกฎหมายอำนวยความสะดวก ยกระดับบริการ สร้างความโปร่งใสภาครัฐ” และหัวข้อที่สอง “คิดอย่างยั่งยืนกับองค์กรภาครัฐต้นแบบ” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน และช่วงพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 ซึ่งจะเป็นการมอบรางวัลให้กับหน่วยงานภาครัฐที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการพัฒนาบริการ การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และการพัฒนาองค์กรอย่างโดดเด่น ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลจะเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบงานของหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้นและเกิดความยั่งยืนต่อไป
“รางวัลเลิศรัฐ” (Public Sector Excellence Awards : PSEA) ถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่มอบให้หน่วยงานที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จมีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานรัฐทั้งปวง แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ รางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ รางวัลเลิศรัฐยอดเยี่ยม และรางวัลเลิศรัฐสาขา สำหรับในปี 2567 มีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้หน่วยงานที่เป็นต้นแบบสร้างคุณค่าจนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ส่วนรางวัลเลิศรัฐยอดเยี่ยม มอบให้แก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัลดีเด่นทั้ง 3 สาขา คือ สาขาบริการภาครัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และสาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ กรมธนารักษ์ สำหรับรางวัลเลิศรัฐสาขา จะมอบให้แก่หน่วยงานที่มีการพัฒนาโดดเด่นในแต่ละสาขา โดยในปีนี้มีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐสาขาบริการภาครัฐ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ กรมการแพทย์ โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี อย่างไรก็ตาม ในปีนี้มีการมอบรางวัลเกียรติยศ ซึ่งถือเป็นรางวัลพิเศษให้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับรางวัล United Nations Public Service Awards 2024 สาขา Innovation in Public Institutions ในผลงาน Academic Insight into Action for Pandemic Response
นอกจากนี้ได้มีการมอบรางวัลบริการภาครัฐ โดยมอบให้แก่หน่วยงานที่มีการพัฒนาประสิทธิภาพ การให้บริการประชาชนได้อย่างโดดเด่น รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ มอบให้แก่หน่วยงานที่มีการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการองค์การไปสู่ความเป็นเลิศ และรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมมอบให้แก่หน่วยงานที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ
สำหรับผลงานได้รับรางวัลในปีนี้จะเห็นได้ว่ามีความโดดเด่นในหลายๆ ด้าน อาทิ
1.) การนำนวัตกรรมมาใช้ทำงานและยกระดับการให้บริการ รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กรมการแพทย์ ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนาและสร้างหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัดต้นแบบขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตหุ่นผสมยาได้เองในราคาไม่แพง มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงาน ทำให้ระยะเวลารอคอยในการให้ยาเคมีบำบัดน้อยกว่า 6 สัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 80.44 เป็นร้อยละ 96.25จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำหุ่นยนต์ต้นแบบอัจฉริยะ มาช่วยรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน แห่งแรกของไทยและของโลกเพิ่มความปลอดภัยทางรังสีแก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยด้วยระยะเวลาที่สั้นและเร็วที่สุด ฯลฯ
2.) การขับเคลื่อนองค์การโดยใช้ข้อมูล ใช้ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ในการพัฒนานโยบายและให้บริการกับประชาชน เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริหารจัดการข้อมูลนิติบุคคลขนาดใหญ่ ให้รองรับปริมาณการขอเอกสารทางทะเบียนที่มากกว่า ๑๐ ล้านคำขอต่อปี เพื่อบริการที่สะดวกรวดเร็ว ข้อมูลที่ทันสมัย พร้อมใช้และปลอดภัย รวมถึงกรมวิชาการเกษตร ที่ได้พัฒนาระบบข้อมูลให้เป็นดิจิทัล (Digitize Data) ทั้งข้อมูลที่ใช้ภายในหน่วยงานและข้อมูลที่จะเผยแพร่สู่หน่วยงานภายนอก/สาธารณะ เพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) เช่น โครงการพัฒนาระบบการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก (Big Data Analytics) ด้านการเกษตรจากฐานข้อมูลที่สำคัญ
3.) การพัฒนาไปสู่องค์การดิจิทัล หน่วยงานได้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีไปใช้
ในการยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการและการบริหารจัดการเพิ่มมากขึ้น เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาการยื่นคําขอจดทะเบียนและต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแบบเร่งด่วน (Fast Track) รวมทั้งการชําระค่าธรรมเนียมการยื่นคําขอดังกล่าว สามารถยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e- Filing)
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พัฒนางานของ DBD “3 ปรับ 5 เปิด” ปรับข้อมูลเป็นดิจิทัลตั้งแต่ต้นทาง
ผ่านระบบจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ e-Registration และการเปิดภาครัฐ (Government Open Data)
ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลที่เข้าถึงและใช้ได้เสรี ไม่จำกัดแพลตฟอร์ม ไม่เสียค่าใช้จ่าย
4) การออกแบบการให้บริการเฉพาะบุคคล เช่น โรงพยาบาลปางมะผ้า โรงพยาบาลขนาด 30 เตียง อยู่ติดชายแดนไทย – พม่า ผู้รับบริการส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ ได้นำแนวคิด Smart Hospital ในพื้นที่ห่างไกล มาพัฒนาการบริการสะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอปางมะผ้า โดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพด้วยการให้ความสำคัญผู้รับบริการ นำมาออกแบบระบบ การบริการหรือผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนส่งมอบในรูปแบบ End to end ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน
และสร้างความพึงพอใจ ผู้รับบริการ
5.) การพัฒนาไปสู่ภาครัฐระบบเปิด โดยมีรูปแบบจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเน้นการจัดการและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และเชื่อมโยงและเผยแพร่ข้อมูลผ่านอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า พัฒนาฐานข้อมูล oracle 12C และ Economic Index Dashboard
ที่ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง แม่นยำ ครบถ้วน ในทุกมิติ รวมถึงกรมธนารักษ์ นำแนวคิดภาครัฐระบบเปิด
เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาชุมชนในการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ
การมอบรางวัลเลิศรัฐให้แก่หน่วยงานภาครัฐ นับเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาระบบราชการ
ที่สะท้อนความสำเร็จในการพัฒนาการให้บริการและการพัฒนาองค์การของภาครัฐ เพื่อไปสู่ความเป็นเลิศ
ในการปฏิบัติราชการ ที่สามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการ เพื่อนำไปสู่การพลิกโฉมการบริการที่มีมาตรฐาน และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างยั่งยืน.-513-สำนักข่าวไทย