กรุงเทพฯ 5 ก.ย. – ปลัดเกษตรฯ เผยสั่งกรมวิชาการเกษตร-กรมส่งเสริมการเกษตร ตรวจสอบสวนทุเรียนและล้ง เพื่อหาสาเหตุพบทุเรียนส่งออกไปจีนปนเปื้อนแคดเมียม จนศุลกากรจีนแจ้งเตือนมายังไทย เบื้องต้นคาดไม่ใช่ผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ เร่งหาข้อมูลทางลับเพื่อแก้ปัญหา ไม่ให้กระทบส่งออก
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรเร่งตรวจสอบกรณีที่สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) แจ้งเตือนมายังไทยว่า พบทุเรียนที่ปนเปื้อนแคดเมียม โดยขอให้ไทยระงับการส่งออกบริษัทส่งออก (PC) โรงคัดบรรจุ (ล้ง) และสวน GAP ที่พบปัญหาชั่วคราว พร้อมขอให้ไทยเข้มงวดการส่งออกทุเรียนที่อาจมีแคดเมียมปนเปื้อน จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่า ไม่ใช่ผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้จึงให้หาข้อมูลทางลับถึงที่มาของทุเรียน เมื่อทราบสาเหตุและที่มาจะตอบกลับไปยัง GACC
นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมถึงปัจจุบัน จีนแจ้งเตือนพบทุเรียนที่ส่งออกจากไทยปนเปื้อนแคดเมียมมา 6 ครั้ง จำนวน 16 ชิปเมนต์ จากโรงคัดบรรจุ 12 รายและแหล่งผลิต 15 สวน กรมวิชาการเกษตรสั่งระงับการส่งออกทันที พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างทุเรียน ดิน น้ำ และปัจจัยการผลิตเพื่อหาการปนเปื้อน ผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบตัวอย่างที่ปนเปื้อนแคดเมียม แต่ไม่เกินมาตรฐานที่จีนกำหนดไว้ว่า ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
กรมวิชาการเกษตรกำลังหาสาเหตุที่แน่ชัดและกำหนดมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมอบหมายให้กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืชเชิญโรงคัดบรรจุ (ล้ง) และผู้ส่งออกมาหารือและกำหนดมาตรการ 11 ขั้นตอนในการสุ่มตัวอย่างทุเรียนระหว่างวันที่ 2-16 กันยายน ที่จะส่งออก 5 ลูกต่อชิปเมนต์ แล้วส่งไปตรวจหาสารแคดเมียมที่ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO 6 แห่ง โดยผู้ส่งออกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในอัตรา 800-1,200 บาท ซึ่งรวมค่าขนส่ง
พร้อมกันนี้ยืนยันว่า จีนยังไม่ได้ระงับการนำเข้าทุเรียนจากไทย ผู้ประกอบการยังคงส่งออกได้ตามปกติ ไม่มีผลกระทบกับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate: PC)
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรมอบหมายให้ด่านตรวจพืชเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าทุเรียนสดจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อราคาทุเรียนไทย ผู้บริโภคไทยจะไม่ได้รับประทานทุเรียนคุณภาพ รวมถึงอาจสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยเพื่อการส่งออกไปตลาดสำคัญอย่างประเทศจีน นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกัน ควบคุม เฝ้าระวังโรคและศัตรูพืชที่อาจจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชที่สำคัญร้ายแรง ตลอดจนสร้างความเสียหายแก่พืชเศรษฐกิจและระบบการผลิตพืชของประเทศ กรมวิชาการเกษตรจึงบูรณาการกับชุดเฉพาะกิจพญานาคราช กรมศุลกากร และหน่วยงานมั่นคงในพื้นที่ติดตามสถานการณ์เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า โดยเฉพาะด่านพรมแดนอย่างเข้มงวด
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออกไปยังประเทศจีน ได้ยกระดับกระบวนการตรวจสอบคุณภาพและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกทุเรียนทั้งระบบ รวมถึงมาตรการกำกับดูแลการนำเข้าทุเรียนสดจากต่างประเทศต้องสำแดงเพื่อขอนำเข้าผ่านด่านตรวจพืช
จากข้อมูลการนำเข้าทุเรียนเพื่อนำมาแปรรูปพบว่า มีการนำเข้าจากกัมพูชาปริมาณ 42.6 ตัน อินโดนีเซียปริมาณ 0.83 ตัน ส่วนในเดือนพฤษภาคม 2567 สามารถจับกุมลักลอบนำเข้าทุเรียนสดจากกัมพูชาได้ที่จังหวัดสระแก้ว จึงยึดสินค้า 5.049 กิโลกรัม พร้อมแจ้งข้อกล่าวหานำเข้าสินค้าพืชทุเรียนสดไม่ผ่านพิธีศุลกากรและไม่ขออนุญาตนำเข้าจากด่านตรวจพืชกรมวิชาการเกษตร
ทั้งนี้มาตรการควบคุมการนำเข้าและป้องกันการลักลอบนำเข้าทุเรียนสด จะเป็นกลไกในการตรวจสอบสินค้าร่วมกับศุลกากรซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้สร้างความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อรักษาชื่อเสียงและตลาดของทุเรียนไทยซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ. – 512 – สำนักข่าวไทย