คลังดึงหลายหน่วยงานมุ่งผลักดันเศรษฐกิจสีเขียว

กรุงเทพฯ 30 ส.ค. – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในงานสัมมนาวิชาการ “Fiscal GreenPrint พิมพ์เขียวนโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว” หัวข้อ “Fiscal GreenPrint: Bridging Policy and Practice เชื่อมนโยบายสู่การปฏิบัติ” นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ของ สศค.ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า แนวความคิด “Carbon Competitiveness” มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ โดย สศค. ได้นำเสนอมาตรการการเงินการคลังที่จะช่วยผลักดันให้องคาพยพทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจสามารถปรับตัวไปสู่การดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อผลักดันนโยบายให้ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สศค. ในฐานะหน่วยงานเสนอแนะนโยบายของกระทรวงการคลัง ได้พัฒนาแนวคิด 4Es of Eco-Economic Strategy: (1) Elevate หรือการยกระดับห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว (2) Encourage หรือการผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัวและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (3) Empower หรือการสร้าง Ecosystem เพื่อให้ภาคธุรกิจมีทรัพยากรบุคคลและความรู้เพียงพอสำหรับเศรษฐกิจแห่งอนาคต และ (4) Engage หรือการร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาค ในเชิง “Carbon Competitiveness” โดยใช้ความได้เปรียบจากทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย รวมทั้งภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งสร้างคาร์บอนเครดิตได้ เพื่อรักษาศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาว


คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กล่าวว่า การลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำ แต่มีต้นทุนในการลงทุนขั้นต้นที่สูง ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อเข้ามาผลักดันให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสิ่งที่ต้องเริ่มดำเนินการเพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ การทำบัญชีคาร์บอน (Carbon Accounting) เพื่อประเมิน Carbon Footprint of Organization (CFO) และ Carbon Footprint of Products (CFP) เพื่อให้แต่ละองค์กรตระหนักถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง เพื่อให้สามารถวางแผนในการปรับตัวและเปลี่ยนผ่านสู่การประกอบธุรกิจสีเขียว ดังนั้น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเป็นประโยชน์ในการจูงใจให้ผู้ประกอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเอง รวมทั้งการใช้พลังงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในการกำหนดนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องคำนึงถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นและพิจารณาทางเลือกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรอบด้าน ยกตัวอย่างเช่น การก้าวเข้าสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช้พลังงานฟอสซิล แต่อาจรวมถึงเทคโนโลยีการดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage) เป็นต้น

คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการมีนโยบายหรือมาตรการที่ชัดเจนจากภาครัฐที่จะช่วยผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยมีข้อเสนอแนะสำหรับภาครัฐ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำซึ่งภาครัฐของประเทศจีนได้ปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารพาณิชย์จีนเพื่อให้นำไปปล่อยต่อสำหรับการปรับเปลี่ยนธุรกิจจีนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาตรการในการยกระดับตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยโดยปรับมาตรฐานการวัดคาร์บอนเครดิต การสร้างฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการประเมินและตรวจสอบคาร์บอนเครดิตและการสร้างมาตรฐานการบัญชีทางคาร์บอน (Carbon Accounting) ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถคัดเลือกธุรกิจเพื่อให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และป้องกันปัญหาการฟอกเขียว (Greenwashing) การสร้างองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนและประเมินคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ ด้วยข้อเสนอต่าง ๆ และความร่วมมือของภาครัฐจะช่วยให้สามารถยกระดับภาคการเงินของไทยให้สอดคล้องกับหลักการด้านสิ่งแวดล้อม


ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ผู้จัดการด้านความยั่งยืนระดับภูมิภาค บริษัท บูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงอุปสรรคในการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยในปัจจุบัน คือ มาตรการฐานการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยยังแตกต่างจากมาตรฐานสากล ทำให้ไม่สามารถซื้อขายในตลาดโลกได้และเป็นการซื้อขายภายในประเทศในราคาที่ต่ำเมื่อเทียบกับราคาในต่างประเทศ อีกทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตของไทยยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ประเทศไทยควรพัฒนาระบบการจัดการคาร์บอนโดยเฉพาะกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศในยุคที่มีการนำกลไกราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Cross Border Adjustment Mechanism) มาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี นอกจากนี้ ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยให้มีมาตรฐานและสร้างกลไกให้ราคาของคาร์บอนสามารถสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของคาร์บอนเครดิต ตัวอย่างเช่น คาร์บอนเครดิตที่ได้จากการรักษาป่าหรือปลูกป่าอาจมีประโยชน์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น

คุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท ธาอีส อีโคเลทเธอร์ จำกัด ได้ให้ความเห็นในฐานะผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กที่มีการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยได้มีการนำของที่ใช้แล้วหรือขยะมาสร้างมูลค่าขึ้นใหม่ โดยไม่สร้างคาร์บอนขึ้นใหม่ในระหว่างกระบวนการผลิต และได้กล่าวถึง ความสำคัญและบทบาทความจำเป็นของสถาบันการเงินในการช่วยเหลือและส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถเติบโตได้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของการสนับสนุนสินเชื่อและการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ดี เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเติบโตได้ นอกจากการช่วยเหลือจากภาครัฐแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีความมุ่งมั่นและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรองรับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผู้บริโภคได้ตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับการเลือกใช้หรือเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เน้นย้ำว่า เพื่อนำนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียวไปสู่การปฏิบัติได้จริง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เป็นมาตรการเชิงป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังช่วยให้เศรษฐกิจไทยก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้.-515- สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

จุดเทียนรำลึก 20 ปี สึนามิ

ค่ำคืนนี้ ที่อนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา สว่างไสวจากแสงเทียนนับพันเล่มที่ถูกจุดขึ้นเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่รักซึ่งจากไปในเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี 2547 จากวันนั้นถึงวันนี้ ครบ 20 ปีเต็ม

สอบแล้ว 5 ปาก คลี่ปม “แบงค์ เลสเตอร์” ยังปฏิเสธจ้างดื่มโชว์

ผบช.ภ.2 เผย สอบแล้ว 5 ปาก พยานสำคัญ คลี่ปม “แบงค์ เลสเตอร์” ยังปฏิเสธจ้างดื่มโชว์ พร้อมไล่ไทม์ไลน์ เปิดผลชันสูตรเบื้องต้นหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ส่งชิ้นเนื้อ สารคัดหลั่ง เลือด และเศษอาหารในกระเพาะตรวจแล็บ หาสาเหตุที่แท้จริง

นายกฯ ตรวจความพร้อมหมอชิต 2 ให้บริการ ปชช.เดินทางช่วงปีใหม่

นายกฯ ตรวจความพร้อมหมอชิต 2 ให้บริการประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า กำชับ บขส. อำนวยความสะดวกเตรียมพร้อมรถ สั่งเข้มตรวจแอลกอฮอล์-ยาเสพติดพนักงานขับรถ ป้องกันอุบัติเหตุ