กรุงเทพฯ 22 ส.ค. – อวสานหุ้นซิ่ง หุ้นร้อน ทำความเข้าใจ 3 มาตรการยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุนเพิ่มเติมล่าสุด เตรียมบังคับใช้ 2 กันยายนนี้
ในงานโฆษกพบสื่อ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2567 นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการในฐานะโฆษกตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนิน 3 มาตรการเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุนเพิ่มเติมล่าสุด โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 2 กันยายนนี้เป็นต้นไป ทั้งการกำหนดกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band, การซื้อขายด้วยวิธี Auction และการกำหนด Minimum Resting Time เพื่อลดความผันผวน และคุ้มครองผู้ลงทุนกรณีเกิดราคาหุ้นที่อาจเกิดการซื้อขายที่ผิดปกติ
สำหรับมาตรการจับคู่ซื้อขายในคราวเดียว (Auction) เป็นการเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติ จากมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเพิ่มวิธีจับคู่ซื้อขายในคราวเดียว (Auction) ตามช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดสำหรับหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติ และตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้เข้ามาตรการฯ ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป โดยจะเปิดจับคู่การซื้อขายวันละ 3 รอบ ได้แก่ Pre-open 1, Pre-open 2, Pre-Close) ส่วนในช่วง No-Matching 1 และ No-Matching 2 ไม่เปิดให้ส่งออเดอร์ แต่สามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งได้
ในกรณีที่หุ้น Underlying ของ SSF (Single Stock Future หรือสัญญาฟิวเจอร์สของหุ้นสามัญ) ที่ซื้อขายใน TFEX เข้าสู่มาตรการ Auction TFEX จะดำเนินการโดย
- ผู้ลงทุนจะยังสามารถทำการซื้อขาย SSF ได้ปกติ
- ถ้าเป็นวันซื้อขายวันสุดท้ายของ SSF นั้น TFEX จะคำนวณราคาสำหรับการส่งมอบโดยใช้อ้างอิงเพื่อคำนวณส่วนต่างของราคาเพื่อใช้ชำระหนี้ในวันซื้อขายวันสุดท้าย โดยใช้ราคาซื้อขาย Auction ครั้งสุดท้ายของหุ้นที่เป็น Underlying
- TFEX อาจปรับลด position limit ของ SSF ดังกล่าว ผู้ลงทุนสามารถถือ SSF เดิมต่อไปได้ แต่จะไม่สามารถเพิ่มฐานะให้เกินกว่าจำนวนที่ TFEX กำหนดได้
ส่วนมาตรการที่ 2 การกำหนดกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band (DPB) เป็นรายหลักทรัพย์ (±10% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น) เพิ่มเติมจาก Ceiling & Floor ในปัจจุบัน (±30% จากราคาปิดในวันทำการก่อนหน้า) เพื่อเพิ่มกลไกในการควบคุมความผันผวนของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งจะครอบคลุมเฉพาะ หลักทรัพย์ที่มีราคามากกว่า 1 บาทขึ้นไปโดยเฟสแรก ครอบคลุม หุ้นสามัญ, หน่วยทรัสต์ เช่น REIT, หน่วยลงทุนกองทุนรวม เช่น Property Fund ส่วนเฟส 2 คาดเป็นต้นปีหน้า จะขยายครอบคลุมในหลักทรัพย์ที่มีหลักทรัพย์ข้างต้นเป็น Underlying เช่น DW และหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายหน่วยย่อย (odd-lot) และหลักทรัพย์ Foreign
ทั้งนี้ การกำกับดูแลดังกล่าวจะไม่ใช้กับหลักทรัพย์ที่มีเหตุการณ์ที่อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของราคาได้มากกว่าปกติ เช่น หุ้นจดทะเบียนใหม่ (Newly Listed), ไม่ใช้กับหุ้นที่ตลาดฯ มีการขยาย Celling&Floor ประจำวัน เช่น หุ้นที่มีข่าว Tender Offer, หุ้นที่เปิดให้ซื้อขายชั่วคราว ที่ตลท.ประกาศเหตุที่จะไม่มีการใช้เกณฑ์ Dynamic Price Band (DPB)
“ยืนยันกรณีหุ้นที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายวันแรก IPO ไม่ถูกกำกับด้วยมาตรการ Dynamic Price Band (DPB) และไม่ได้จำกัด Ceiling ของราคาหุ้น IPO เนื่องจากโดยหลักการแล้วการเข้าจดทะเบียนซื้อขายวันแรกตลาดหลักทรัพย์ต้องการให้ราคาหลักทรัพย์นั้นสามารถเคลื่อนไหวได้ในราคาที่เหมาะสม แต่ในวันถัดไปจะต้องเข้าสู่มาตรการ Dynamic Price Band (DPB) ด้วย หากเข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้”, นายรองรักษ์ กล่าว
ส่วนมาตรการที่ 3 การกำหนดเวลาขั้นต่ำของคำสั่งซื้อขาย ก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งซื้อขาย (Minimum Resting Time) โดยคำสั่งซื้อขายจะต้องคงอยู่ในระบบอย่างน้อย 250 มิลลิวินาที (มากกว่าหรือเท่ากับ 0.250 วินาที) จึงจะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งได้ เพื่อชะลอและป้องกันไม่ให้เกิดคำสั่งซื้อขายในลักษณะใส่-ถอนที่มีความถี่มากจนเกินไป จนอาจทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิด ว่ามีความต้องการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในปริมาณมาก
“หลักๆ ใช้กำกับดูแล Program Trading ซึ่งการกำหนดเวลาขั้นต่ำของคำสั่งซื้อขาย ก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งซื้อขาย (Minimum Resting Time) ครอบคลุมหุ้น IPO ด้วย และไม่ใช้กับ Market Maker ที่ขึ้นทะเบียนกับ SET หรือ TFEX และปฏิบัติหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง มาตรการต่างๆ เหล่านี้เชื่อมั่นว่าจะช่วยคุ้มครองผู้ลงทุนในกรณีเกิดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ และเป็นมาตรการกำกับดูแลที่ไม่ใช่เพียงตลาดหลักทรัพย์ไทยเท่านั้นที่ดำเนินการใช้แต่ในต่างประเทศก็มีการปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศ” นายรองรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย
รายละเอียดเพิ่มเติม ตรวจสอบข้อมูลได้ผ่านทางเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ www.set.or.th . -สำนักข่าวไทย