กรุงเทพฯ 9 ส.ค. – 3 สหภาพแรงงานไฟฟ้า รอคำตอบรัฐบาล ทบทวนแผนไฟฟ้าพีดีพี หลังแผนใหม่ไม่เอื้อความมั่นคง-การดูแลค่าไฟฟ้า โดยสัดส่วน ผลิตไฟฟ้า กฟผ.หดเหลือ 17% พร้อมเสนอแนวคิดแก้หนี้ค่าไฟแสนล้านบาท โดยรัฐบาลควรออกพันธบัตรมาใช้หนี้ หรือลดสัดส่วนการนำเงินส่งรัฐของ กฟผ.
นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า หลังจากที่สหภาพ ฯ 3 การไฟฟ้า เข้าพบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อเร็วๆ นี้ (31 ก.ค.) ทาง 3 หน่วยงานก็ได้มีการสานงานดำเนินการต่อเนื่องเพื่อติดตามและเตรียมพร้อมทวงคำตอบที่ชัดเจน โดยต้องขอขอบคุณ รมว.พลังงาน ที่ให้เข้าพบและเพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศและปัญหาราคาค่าไฟฟ้าที่สูงจนมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชน เนื่องจากเรื่องกิจการไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐควรพิจารณากำหนดตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกระตุ้นให้มีความมุ่งมั่นในภารกิจ เช่น ต้องบริหารจัดการไม่ให้ราคาค่าไฟฟ้าเกิน 3.90 บาทต่อหน่วย ภายใน 3 ปี เป็นต้น
ส่วนเรื่องหนี้ กฟผ.ที่ ช่วยรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้า เอฟที ไปก่อนหน้านี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท ทางสหภาพฯ ได้เสนอแนวคิดว่า เพื่อไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเพิ่มและไม่เป็นภาระต่อต้นทุนการดำเนินงานของ กฟผ.ที่ต้องดูแลความมั่นคงด้านพลังงานด้วยนั้น รัฐบาลก็น่าจะออกพันธบัตรมาชำระหนี้ หรือ ให้ กฟผ.ลด หรือชะลอการจ่ายเงินเข้ารัฐ จากที่ปกติจะต้องมีการจ่ายประมาณร้อยละของกำไรสุทธิ ในแต่ละปี โดยหากทำได้ก็จะเป็นหนึ่งทางทางออกแก้ปัญหานี้ โดยทางกระทรวงพลังงานกำลังหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ภายใน 4 เดือน
ทั้งนี้ สหภาพฯ 3 การไฟฟ้า มีความห่วงใยต่อร่างแผนไฟฟ้าระยะยาว PDP 2024 โดยขอให้ทบทวน เช่น เรื่องสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าระหว่างภาครัฐกับเอกชนควรให้มีความชัดเจน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดกรอบสัดส่วนเอาไว้ ทั้ง ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยแนะนำให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ แต่ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด โดยตามร่าง PDP2024 กฟผ.จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่เพียงร้อยละ 17 ซึ่งถือว่าน้อยมากในภารกิจสำคัญที่ต้องดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ที่ในอนาคตจะมีความผันผวนมากยิ่งขึ้นจากนโยบายของรัฐที่จะให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากเพิ่มเข้ามา ทั้งที่การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ไม่ว่าจะโดยภาครัฐหรือ เอกชน ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องค่าไฟฟ้า เนื่องจากรัฐเป็นผู้ควบคุมและกำหนดราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าและราคาเชื้อเพลิง ในขณะที่โรงไฟฟ้าของรัฐสามารถตอบแทนคืนประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนด้วยการนำส่งรายได้เข้ารัฐปีละหลายหมื่นล้านบาท รวมทั้งการใช้เป็นกลไกเพื่อดูแลราคาค่าไฟฟ้าและการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางเช่นที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากเรื่องการทบทวนการจัดทำ PDP การจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้ทันที เห็นควรพิจารณาให้มีการเจรจาเพื่อทบทวนสัญญา PPA กับโรงไฟฟ้าเอกชนในเรื่องการจ่ายเงินค่าความพร้อมจ่าย (AP) ให้ลดลงเหลือน้อยที่สุดเช่น 10-20สตางค์ต่อหน่วย (ปัจจุบันค่าเฉลี่ย AP ประมาณ 75-80สตางค์ต่อหน่วย) โดยอาจแลกกับการขยายอายุสัญญาหรือเงื่อนไขอื่นที่เหมาะสม โดยเลือกโรงไฟฟ้าที่ประกอบการมาคุ้มทุนแล้ว (อายุ7-10 ปี) เบื้องต้นควรเจรจาขอความร่วมมือจากโรงไฟฟ้าในเครือของ กฟผ.และ บมจ.ปตท. หากสามารถทำได้ก็จะเกิด Quick Win และใช้เป็นต้นแบบ และควรให้ทบทวนเรื่องการทำสัญญา PPA ใหม่ไว้เพื่อใช้สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ในแผน PDPใหม่ ควรปรับแนวคิดการพยากรณ์ จากเดิม คำนวณจากความต้องการใช้ฟ้าจะเติบโตเท่ากับ GDP แต่เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนมีมาตรการประหยัดไฟฟ้ารูปแบบต่างๆและผลิตไฟฟ้าใช้เองเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าของประเทศลดลง ดังนั้น จึงควรทบทวนเรื่องการประเมินค่า GDP ใหม่ และใช้สัดส่วนลดต่ำกว่า GDP ประมาณ0.75-0.8% ของ GDP ในขณะที่ การกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (RE) เข้ามาใหม่ ควรต้องให้ค่อยทยอยเข้ามาในระบบให้สมดุลกับกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่เดิมจำนวนมากก่อน,ควรให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ (Floating Solar) ในเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่เป็นลำดับแรกมากกว่า เนื่องจากจะช่วยผลิตไฟฟ้าในเวลากลางวัน เพื่อเก็บรักษาน้ำในเขื่อนไว้ผลิตไฟฟ้าสนับสนุนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงในช่วงเวลากลางคืน,ส่วนโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบมีระบบแบตเตอรี่เพื่อเก็บกักพลังงาน (BESS) นั้น การกำหนดช่วงเวลาที่จะเปิดการรับซื้อไฟฟ้าควรให้เหมาะสมกับความพร้อมคือเมื่อเทคโนโลยีและต้องมีการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่สูงเกินไป เช่น ไม่ควรเกินหน่วยละ 3 บาท เพื่อช่วยดึงราคาค่าไฟฟ้าในภาพรวมให้ถูกลง (ปัจจุบันค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่หน่วยละ 3.78 บาท) ควรแสวงหาแนวทางการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าสะอาดเป็นโรงไฟฟ้าหลัก เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง (Energy Mix) พึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติมากถึงร้อยละ 60 และโรงไฟฟ้าหลักที่จะเข้ามาใหม่ในระบบไฟฟ้าก็ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งแหล่งก๊าซธรรมชาติมาจากอ่าวไทย เมียนมา และนำเข้า LNG และในอนาคตจะเหลือเพียงจากอ่าวไทยและการนำเข้า LNG ซึ่งการนำเข้า LNG ที่สัดส่วนมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีราคาที่ผันผวนส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจะไม่ถูกลงเท่าที่ควร ประเทศจะคงอยู่ในวังวนของวัฏจักรค่าไฟฟ้าสูงมากจนรับไม่ได้เหมือนเช่นปัจจุบัน และควรทบทวนเรื่องการนำก๊าซฯจากอ่าวไทยที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ให้มารวมอยู่ในระบบ Pool Gas และควรให้มีการทบทวนเรื่องความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศเป็นรายภาค
ส่วนเรื่องการกำหนดในแผนให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ในช่วงท้ายของแผน PDP ควรทบทวนเพราะ SMR อาจไม่ได้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ปกติ และมีกำลังผลิตน้อย (300 MW) จึงไม่มากพอที่จะมีผลต่อการช่วยลดราคาค่าไฟฟ้า และ อาจไม่ได้รับยอมรับจากประชาชน. -511-สำนักข่าวไทย