กรุงเทพฯ 30 ก.ค.- เลขาธิการ ก.ล.ต.ชี้ ครม.ผ่านเกณฑ์ Thai ESG มุ่งเน้นการออมระยะยาว เชื่อหนุนตลาดทุน ก.ล.ต.พร้อมเร่งเครื่อง ส่วน ตลท.เปลี่ยนผู้จัดทำ SET ESG Ratings ไม่กระทบ แต่ยิ่งเป็นประโยชน์กับนักลงทุน
รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยภายหลัง ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยใน Thai ESG ด้วยการขยายวงเงินการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินซื้อหน่วยลงทุนจาก 100,000 บาทต่อปีภาษี เป็น 300,000 บาทต่อปีภาษี โดยไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินให้ลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือไม่น้อยกว่า 5 ปี จากเดิม 8 ปี นับแบบวันชนวัน มีผลสำหรับหน่วยลงทุนซื้อตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2569 ว่า การอนุมัติเกณฑ์ใหม่ TESG ถือเป็นปัจจัยบวกอย่างมาก ที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ดำเนินการควบคู่มาโดยตลอด และหลังจากนี้จะทำงานด้วยอัตราเร่งมากขึ้น โดยขยายหุ้นให้กองทุนสามารถเลือกลงทุนได้เพิ่ม เดิมเป็นบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ใน ESG Rating และ/หรือมีการเปิดเผยข้อมูลด้าน Carbon Footprint ต่างๆ โดยมีการเน้นที่ G (Governance) เพิ่มขึ้น โดยขยายการประเมินการกำกับดูแลกิจการ (CGR) ในระดับดีเลิศคือ 90 คะแนนขึ้นไปจาก 100 คะแนนเต็ม ทำให้มีหุ้นที่สามารถขยายขยายการลงทุนได้เพิ่มขึ้น 136 บริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะต้องรวมกับการเปิดเผย value up plan มีแผนธุรกิจชัดเจน เช่น มีการระบุว่าจะนำเอาบริษัทเข้าแผนประเมิน SET ESG Rating ในระดับสากล ในอีก 2 ปีข้างหน้า เป็นต้น
อยากให้มองว่ากองทุนไทยอีเอสจี เป็นการออมระยะยาว ซึ่งรัฐบาลได้ส่งเสริม โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งการลงทุนในหุ้นไม่ควรจะมองในระยะ 1-2 เดือน แต่ควรจะมองในระยะยาว ซึ่งการลงทุนใน Thai ESG มีระยะเวลาถือครองขั้นต่ำ 5 ปี โดยปีที่ผ่านมา Thai ESG มีเวลาแค่เดือนเดียว สร้างเม็ดเงินได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ระยะเวลาที่เหลือ 4- 5เดือน ประกอบกับเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลด้านบวกในตลาดทุน แต่ไม่ใช่การมุ่งหวังเรื่องการเก็งกำไร แต่มุ่งหวังให้แปลงการใช้จ่ายเป็นการออม และแปลงการออมเป็นการลงทุน เมื่อมีการติดตามข้อมูลในอนาคต นักลงทุนสามารถลงทุนเอง และสามารถขยายฐานการลงทุนได้
ส่วนกรณีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับเปลี่ยนผู้จัดทำ ESG Ratings จาก SET เป็น FTSE Russell ในช่วงนี้พอดี ถือเป็นการยกระดับให้เทียบเท่าสากล จากที่เคยเป็นภาคสมัครใจ ก็จะกลายเป็น FTSE Russell ประเมินจากข้อมูลที่ บจ. เปิดเผยสู่สาธารณะ เชื่อว่าเป็นการทำให้เกิดการยกระดับ แต่นักลงทุนไม่ต้องกังวล เนื่องจากบริษัทที่อยู่ใน ESG Rating เดิมจะสามารถถ่ายโอนมาอยู่ใน FTSE Russell บวกด้วย SET100 และได้รับการประเมินตามเกณฑ์ของ FTSE Russell เชื่อว่าจะไม่มีการตกหล่น และมีบริษัทใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ในปี 69 นับเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนที่สามารถใช้ข้อมูลในเชิงเปรียบเทียบได้
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้สามารถใช้ผลการประเมิน ESG ratings จาก SET ได้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดทำ ESG ratings เป็น FTSE Russell อย่างเป็นทางการ หลังจากนั้น Thai ESG สามารถขอแก้ไขรายละเอียดโครงการเพื่อเปลี่ยนไปใช้ผลการประเมินที่จัดทำโดย FTSE ได้ ซึ่งการแก้ไขดังกล่าว สามารถทำแบบง่าย เพียงยื่นคำขอแก้ไขรายละเอียดโครงการผ่านระบบของสำนักงาน ซึ่งจะได้รับความเห็นชอบโดยทันที
กรณี บลจ. ประสงค์จะใช้บริการผู้ประเมินฯ รายอื่น เช่น S&P Global MSCI เป็นต้น ก็สามารถทำได้ โดยสำนักงานจะพิจารณาว่า การปรับเปลี่ยนผู้ประเมินฯ ทำให้ความเสี่ยงของกองทุนเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และควรแก้ไขรายละเอียดโครงการโดยอาศัยอำนาจสำนักงานในการพิจารณาเห็นชอบ หรือขอมติผู้ถือหน่วยลงทุน ต่อไป ส่วน บลจ. สามารถยื่นคำขอจัดตั้ง Thai ESG ใหม่ โดยใช้ผลการประเมินหุ้นที่มีความโดดเด่นด้าน E หรือ ESG จากผู้ประเมินฯ ที่มีคุณสมบัติตามที่เกณฑ์กำหนดได้ ตั้งแต่วันที่ประกาศที่ปรับปรุงใหม่มีผลบังคับใช้ (คาดว่า 16 ส.ค. 67) ทั้งนี้ Thai ESG ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจัดตั้งและแก้ไขโครงการจาก ก.ล.ต. เช่นเดียวกับ SRI Fund ตลอดปี 2567 ด้วย
สำหรับมาตรการยกระดับการกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ ความผันผวนของราคา/ความเป็นธรรมในการซื้อขาย การกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม/หุ้นที่มีสภาพการซื้อขายผิดปกติ หลังจากใช้มาตราการ Uptick rule เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2567 พบว่า ช่วงวันที่ 1 – 26 ก.ค. 2567 มูลค่าและปริมาณธุรกรรมการขายชอร์ต (Short selling) ใน SET เฉลี่ยต่อวันลดลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ (ม.ค. – มิ.ย. 67) โดยแยกเป็นมูลค่าขายชอร์ตเฉลี่ยต่อวันประมาณ 1,686.30ล้านบาท ลดลง 68.01% และปริมาณขายชอร์ตเฉลี่ยต่อวันประมาณ 95.96 ล้านหุ้น ลดลง 69.76% มูลค่าธุรกรรมการขายชอร์ดมีสัดส่วนคิดเป็น 4.53% ของมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ลดลงเมื่อเทียบกับ 11.65% ช่วงก่อนหน้า และปริมาณการชอร์ตมีสัดส่วนคิดเป็น 0.89% ลดลงเมื่อเทียบกับ 1.9% ช่วงก่อนหน้า ขณะที่ธุรกรรมการซื้อขายผ่าน Program Trading หลังใช้มาตรการ เฉลี่ยต่อวัน ใน SET ลดลงเช่นกัน
ด้านการบังคับใช้ใช้กฎหมายสถิติ 1 ม.ค. – 30 ก.ค. 67 สำนักงาน ก.ล.ต.ได้การกล่าวโทษผู้กระทำผิด ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอศ. และดีเอสไอ) จำนวน 6 กรณี ประกอบด้วย การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล (การสร้างราคา 2 กรณี) และการทุจริต จำนวน 4 กรณี ขณะที่การดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง ประกอบด้วย
- การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 10 กรณี (การสร้างราคา8 กรณี และการใช้ข้อมูลภายใน จำนวน 2 กรณี)
- การตกลงทำบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด 7 กรณี ค่าปรับรวมประมาณ 440 ล้านบาท.-516-สำนักข่าวไทย