นนทบุรี 8 ก.ค. – สศท.-กรมทรัพย์สินทางปัญญาดันครูศิลป์-ครูช่าง จดงานศิลปะหัตถกรรมไทย ทันกระแส Disruption ในอนาคต หวังสร้างมาตรฐานสินค้าให้น่าเชื่อถือ ชี้ตลาดตลาดตะวันออกลางน่าจับตา 5 เดือนส่งออก พุ่ง 7.40% ขนเงินเข้าประเทศกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องเงิน เครื่องทอง
นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (สศท.)หรือ saict กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันมีครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ที่ผลิตงานศิลปหัตถกรรม 4,000 ราย และส่วนใหญ่จะไม่ได้จดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญหาหรืองานของตัวเองทำให้เสี่ยงต่อการถูกละเมิดทรัพย์สินทั้งเครื่องหมายการค้า และการลอกเลียนแบบตัวผลิตภันฑ์ ดังนั้น เพื่อป้องกันการรละเมิดลิขสิทธ์ สศท. ร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการต่อยอดการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์ที่มีลิขสิทธิ์สู่ขยายผลเชิงพาณิชย์ และให้ความรู้ การยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา ในงานหัตถกรรม ให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษามูลค่าของความคิดที่เป็นคลังสมองเฉพาะบุคคล เป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญา
โดยปีนี้มีครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมที่เข้าร่วมจดลิขสิทธิ์ทางปัญหา 30 ราย โดย สศท.สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยในสินค้ากลุ่มหัตถกรรม 9 ประเภท เช่น เครื่องไม้ เครื่องจักรสาน เครื่องดิน เครื่องทอ (เครื่องผ้า) เครื่องรัก เครื่องโลหะ เครื่องหนังเครื่องกระดาษ เครื่องหิน 10.อื่นๆ กลุ่มสินค้างานหัตถกรรมเหล่านี้ ได้อยู่ในพื้นที่แหล่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) หรือ GI โดยผู้ผลิตผลงานในพื้นที่ GI ได้นำวัสดุ/วัตถุดิบ ที่มีความเกี่ยวข้องกับกับการผลิตผลงานเข้ามาเป็นส่วนที่สร้างสรรค์ ต่อยอด ให้สินค้ามีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์สูง อันเนื่องมาจากการหยิบใช้ทุนในพื้นที่ เช่น ทุนทางประวัติศาสตร์ ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง จะสามารถเพิ่มคุณค่า และมูลค่าแก่สินค้าหัตถกรรมได้อย่างมีศักยภาพ
ล่าสุด สศท.ได้ MOU กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการขับเคลื่อนศิลปหัตถกรรม ของไทย ให้เติบโตก้าวสู่การแข่งขันในยุค Disruption ได้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ให้สินค้าได้มีลิขสิทธิ์ และสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าเป็นที่น่าเชื่อถือที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ โดยตลาดส่งออกที่น่าสนใจของงานหัตถกรรมไทย คือ ตะวันออกกลาง เพราะเป็นตลาดที่ชอบงานแนวนี้ และคาดว่าน่าจะส่งอออได้เพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาการลอกเลียนแบบงานหัตถกรรมไทย มองว่ายากเพราะลวดลายของงานไทยมีเอกลักษณ์
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ สศท.มีผลิตภัณฑ์จากโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ และเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวระดับชุมชน และพัฒนาเป็นสินค้าหัตถกรรมสู่การท่องเที่ยวในระดับโลกได้ สศท.เตรียมจัดแสดงนิทรรศการแสดงต้นแบบผลิตภัณฑ์ ในงานแสดงสินค้า Crafts Bangkok 2024 วันที่ 24 – 28 ส.ค.2567 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา
นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมฯ พร้อมให้ความรู้และคำปรึกษาด้านการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา ภายในประเทศ และระหว่างประเทศ แก่ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม สมาชิก สศท. ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรม และนักออกแบบ ให้เป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ และตระหนักในคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของทั้งสองฝ่าย เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการยืนขอเครื่องหมายการค้า จดลิขสิทธิ์ ประมาณ 50,000 คำขอ
สำหรับมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่าการส่งออกรวม 145,492.74 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเดือน พ.ค.ส่งออก 31,859.15 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกหลัก ยังคงเป็น สหรัฐฯ มูลค่าส่งออก 11,520.78 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.95 รองลงมาเป็น สหภาพยุโรป มูลค่าส่งออก 6,073.10 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ3.65 ญี่ปุ่น มูลค่าส่งออก 1,921.83 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ16.96 และอาเซียน มูลค่าส่งออก 2,962.84 ล้านบาท ขยายตัวลดลงร้อยละ -9.90 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด คือ เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง และมีการขยายตัวมากที่สุด คือ ดอกไม้ ใบไม้ และต้นไม้ประดิษฐ์ ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด คือ เครื่องเงิน เครื่องทองเป็นต้น.-514-สำนักข่าวไทย