นครราชสีมา 1 ก.ค. – กระทรวงพาณิชย์ลุยสร้างแบรนด์ “กาแฟวังน้ำเขียว” สินค้า GI เมืองย่าโม ขยายตลาดด้วยการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างรายได้ให้เกษตรกร เติบโตอย่างยั่งยืน
นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้ตนพร้อมเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ GI กาแฟวังน้ำเขียว ณ โรงคั่วกาแฟ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ ณ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 67
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัตลักษณ์ชุมชน และด้วยสินค้า GI มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่แหล่งผลิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งผลให้สินค้ามีอัตลักษณ์เฉพาะตัว จึงทำให้สินค้า GI เป็นสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ นายภัณฑิลกล่าวว่า “วันนี้ได้มาพบผู้ประกอบการและเกษตรกรกาแฟวังน้ำเขียว พร้อมทั้งหารือแนวทางการสนับสนุนเกษตรกรกาแฟวังน้ำเขียว โดยเฉพาะกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่พร้อมจะช่วยวางกลยุทธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้กาแฟวังน้ำเขียว สร้างแบรนด์ ขยายช่องทางการจัดจำหน่าย และพัฒนาบรรจุภัณฑ์โดยได้ดึงนักออกแบบระดับประเทศมาช่วย เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด นำมาสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการในชุมชนวังน้ำเขียวให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป”
อย่างไรก็ตาม กาแฟวังน้ำเขียวเป็นกาแฟที่มีอัตลักษณ์ ปลูกเฉพาะในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว ที่มีความสูง 400 -600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ด้วยสภาพอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะสม จึงทำให้มีรสชาติกลมกล่อม หอมละมุน มีรสชาติไม่เข้มมาก และเป็นกาแฟที่มีกลิ่นหอมของดอกไม้ ผลไม้ และช็อคโกแลต โดยปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกในพื้นที่ประมาณ 510 ไร่ กาแฟวังน้ำเขียวจึงเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่นกว่า 4.3 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียนกาแฟ GI ไทยแล้ว จำนวน 8 รายการ เช่น กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง กาแฟเทพเสด็จ กาแฟเมืองกระบี่ เป็นต้น โดยสร้างมูลค่าการตลาดรวม 700 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.1368 -514-สำนักข่าวไทย