กรุงเทพฯ 7 มิ.ย. – ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ซูซูกิที่โรงงาน อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ปลายปี 2568 โดยจะนำเข้ารถจากญี่ปุ่น อินเดีย และอินโดนีเซียแทน ด้านกลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท. เชื่อค่ายรถไม่ปิดโรงงานเพิ่ม เพราะรถ ICE ยังได้รับความนิยม พร้อมวอนรัฐกระตุ้นยอดขายในประเทศ
วันนี้ (7 มิ.ย.) ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ออกแถลงการณ์ว่า ซูซูกิตัดสินใจยุติการผลิตที่โรงงานประเทศไทย คือ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (SMT) ภายในช่วงสิ้นปี พ.ศ.2568 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนโครงสร้างการผลิตของซูซูกิทั่วโลก
ตามที่รัฐบาลไทยได้มีการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์อีโคคาร์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ในเวลาดังกล่าวซูซูกิได้สมัครเข้าร่วมโครงการและก่อตั้ง SMT ขึ้น ในปี พ.ศ.2554 ซึ่งหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจึงได้มีการเริ่มดำเนินการผลิตขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 เป็นต้นมา โดยสามารถผลิตและส่งออกได้มากถึง 60,000 คันต่อปี ทั้งนี้ด้วยการส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอนและการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าของทั่วโลก ซูซูกิได้มีการพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระดับโลก จึงได้ตัดสินใจยุติการดำเนินการของโรงงาน SMT ภายในช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2568 นี้ แม้จะมีการยุติการดำเนินการของโรงงานในประเทศไทย แต่ SMT จะยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในการจำหน่ายและให้บริการหลังการขาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวไทยต่อไป ซึ่งจะมีการปรับแผนธุรกิจเป็นการนำเข้ารถยนต์จากโรงงานในภูมิภาคแถบอาเซียน รวมถึงประเทศญี่ปุ่นและประเทศอินเดีย นอกจากนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนและให้สอดคล้องในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายของภาครัฐ บริษัทฯ จะมีการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ รวมถึง HEVs เข้าสู่ตลาดในอนาคตด้วยเช่นกัน
ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ทราบเรื่องการประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ปี 2568 จากข่าว ซึ่งทางกลุ่มยานยนต์ได้ทำหนังสือสอบถามจ้อเท็จจริงไปยัง ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทยแล้วและอยู่ระหว่างรอคำตอบ อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทางซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ประกาศปิดโรงงานในไทย มองว่าส่วนหนึ่งมาจากยอดขายที่ลดลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง แบงก์อนุมัติสินเชื่อยากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ซูบารุ ก็ได้ประกาศหยุดดำเนินการประกอบรถในไทย โดยวันสุดท้ายคือ 31 ธ.ค.2567 แต่ทั้งนี้เชื่อว่าจะไม่มีค่ายรถประกาศปิดโรงงานในไทยเพิ่มอีก เนื่องจากว่าแม้เทรนด์รถไฟฟ้าจะมา แต่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปก็ยังเป็นที่นิยม ไม่เฉพาะในประเทศไทย หลายประเทศก็ยังมีการใช้งานอยู่ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐาน เช่นสถานีชาร์จยังไม่ครอบคลุม จึงยังต้องนำเข้าจากประเทศไทยอยู่
“วิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ยอดขายรถยนต์หายไป 39% หรือจากที่ขายได้ 589,126 คัน ในปี 2539 แต่ในปี 2541 ยอดขายตกเหลือเพียง 145,000 คัน เราก็ผ่านมาได้แล้ว และเชื่อว่าครั้งนี้ก็จะผ่านไปได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้จับตาว่าหลังจากภาครัฐเบิกจ่ายงบฯ เศรษฐกิจประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือไม่ เนื่องจากมีการกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง รวมถึงกระตุ้นอสังหาฯ แต่อย่างไรก็ตามยังอยากให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการซื้อรถยนต์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในไทยด้วย” นายสุรพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามสำหรับยอดขายรถยนต์ซูซูกิ 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.67) ทำได้ 2,587 คัน ลดลง 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนข้อมูลงบทางการเงินพบว่า บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขาดทุนสุทธิ 2 ปีติดต่อกัน โดยปี 2565 ขาดทุนกว่า 80 ล้านบาท และปี 2566 ขาดทุนกว่า 264 ล้านบาท.-517-สำนักข่าวไทย