กรุงเทพฯ 4 มิ.ย. – นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยเห็นด้วยที่ภาครัฐจะเรียกเก็บภาษีแวตสินค้านำเข้าต่อชิ้นไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้ผู้ค้าไทยแข่งขันได้ แนะภาครัฐช่วยสนับสนุนดึงเอกชนไทยให้สามารถขายผ่านแพลตฟอร์มทั่วโลก และเอกชนควรปรับตัวมีหน้าร้านพร้อมต้องขยันไลฟ์สดขายสินค้าประชาสัมพันธ์ตนเองมากกว่านี้เพื่อให้คนทั่วโลกรู้จักสินค้าไทย
นางสาวกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลตัดสินใจที่จะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวตกับสินค้าที่นำเข้าในการซื้อขายผ่านออนไลน์นั้น ถือว่าเหมาะสมและเห็นด้วย หลังจากที่ผ่านมาสินค้านำเข้าที่มีราคาต่อชิ้นไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีแวต ทำให้มีราคาถูกกว่าผู้ประกอบการไทยที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ว่าจะราคาไหนก็ต้องเสียภาษีแวต ทำให้สร้างความไม่เป็นธรรมต่อการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการไทยและตลาดผู้ค้าออนไลน์ในต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อมีการเรียกเก็บภาษีแวตเกิดขึ้น จะทำให้สินค้ามีราคาใกล้เคียงกันและไม่ถูกว่าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในไทยมากเกินอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยเชื่อว่าเมื่อความแตกต่างเรื่องของการเรียกเก็บภาษีแวตเท่าเทียมกันแล้ว ผู้ประกอบการไทยจะสามารถทำตลาดและแข่งขันกับสินค้าจากตลาดต่างประเทศได้แน่นอน โดยเฉพาะจะต้องปรับด้านการสื่อสารเพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยได้รู้จักสินค้าไทยมีคุณภาพและมาตรฐานสูงไม่แตกต่างจากสินค้าต่างประเทศ พร้อมทั้งเร่งขยายตลาดสินค้าไทยไปตลาดต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากสินค้าไทยในตลาดโลกเป็นที่ยอมรับไม่น้อย แต่ด้วยพฤติกรรมของคนไทยยังติดแบรนด์เนมสินค้าต่างชาติจนลืมไปว่าสินค้าในตลาดต่างประเทศไม่น้อยที่ผลิตโดยคนไทยและต่างประเทศไปทำตลาดเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น จึงต้องหันกลับมาดูว่าจะให้คนไทยใช้สินค้าไทยได้อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมองว่าผู้ประกอบการไทยควรมีหน้าร้านผ่านตลาดออนไลน์ให้มากกว่านี้ แม้ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยจะเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นอเมซอน หรืออาลีบาบาก็ตาม ยังเห็นว่าไม่เพียงพอ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการฝากสินค้าไว้กับแพลตฟอร์มดังกล่าวมากกว่าที่จะมีหน้าร้านของตนเอง ทำให้นักช้อปสินค้าทั่วโลกไม่ค่อยรู้จักสินค้าไทยในตลาดออนไลน์มากนัก หากผู้ประกอบการไทยจะต้องกลับมาปรับวิธีการทำหน้าร้านตนเอง ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีทียืนในแพลตฟอร์มทั้งตลาดยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่นและอื่นๆให้มากกว่านี้ และที่สำคัญจะต้องผลิตสินค้าที่มีแตกต่าง ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเพื่อเข้าถึงทุกกลุ่ม รวมถึงการเตรียมความพร้อมของบุคคลกรเพื่อใช้ช่องทางไลน์สดขายสินค้าของตนเองแบบเปิดกว้าง เพราะหากเทียบในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีนมีการไลฟ์สดขายสินค้าหลักหมื่นรายต่อวันแต่ของไทยมีการไลฟ์สดเพียงหลักร้อยหลักพันต่อวันถือว่าน้อยมาก ทำให้คนไม่ค่อยรู้จักสินค้าไทย โดยสิ่งเหล่านี้ หากผลักดันได้สินค้าไทยจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมากยิ่งขึ้น. -514-สำนักข่าวไทย