กรุงเทพฯ23 พ.ค.-กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) จัดงานสัมมนา “KKP Shaping Tomorrow เราปรับ-โลกเปลี่ยน” ระดมวิทยากรให้ความรู้แก่ลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เกี่ยวกับแนวทางและวิธีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า KKP ได้ริเริ่มโครงการ KKP Shaping Tomorrow เพื่อให้ความรู้ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนกับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ด้วยความเชื่อว่าการที่สถาบันเงินได้ร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นเซกเตอร์สำคัญเช่นนี้ จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในกระบวนการ (in-process) ไม่ว่าของธนาคารหรือในธุรกิจของลูกค้า และอาจขยายผลไปสู่ความเปลี่ยนแปลงไปในภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับภาวะการอนุมัติสินเชื่ออสังหาฯในขณะนี้ จะมีความเข้มงวดหากผู้ขอสินเชื่อไม่ได้ตามมาตรฐานที่วางไว้ก็จะไม่ปล่อย ต้องเผื่อความไม่แน่นอน โดยในปีนี้จะปล่อยสินเชื่อยากและตึงตัว การปล่อยสินเชื่อน้อยลง ซึ่งจะต้องดูในเรื่องหลักประกัน และระมัดระวังกลุ่มเปราะบาง และมีหนี้สูง ส่วนเอ็นพีแอล จะอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูง แต่สินเชื่อบางอย่างเช่นรถยนต์ขายได้เร็ว เอ็นพีแอลก็จะไม่มี ต้องมองในภาพรวมของสินเชื่อ

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ “ความยั่งยืนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต้องคำนึงถึงสร้างอาคารสีเขียว หรืออาคารที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะผู้ซื้อจะเลือกตั้งสำนักงานในอาคารสีเขียว แม้ว่าอาคารเหล่านี้จะลงทุนสูงกว่า แต่จะคุ้มค่าในระยะยาว จากการใช้พลังงานที่น้อยลง ทำให้ดึงลูกค้าเข้ามาเช่า หรือซื้อได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ดูแลในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ราคาค่าเช่าหรือขายก็จะได้สูงกว่า รวมผลตอบแทนโดยรวมจะดีกว่า ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการแข่งขันของอาคารสีเขียวจะมีมากกว่าอาคารทั่วไป
ทั้งนี้ ธนาคารทุกแห่งจะต้องปรับตัวให้การปล่อยสินเชื่อในโครงการที่มุ่งไปสู่ Net Zero ให้ได้มากที่สุด เพราะธนาคารทุกแห่งก็มีเป้าหมายมุ่งไปสู่ Net Zero เพื่อให้พอร์ตของธนาคารมุ่งไปสู่เป้าหมายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งกลุ่มธนาคารจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ประเทศชาติก้าวไปสู่เป้าหมาย Net Zero เพราะทุกโครงการลงทุนจะต้องอาศัยสินเชื่อจากธนาคาร หากธนาคารเข้มงวดในเรื่องนี้ โครงการลงทุนต่าง ๆ ก็จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มาก
ดร.วราพงศ์ วงศ์วัชรา ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด กล่าวว่า ในปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้าน ESG มาก ซึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำ ESG Rating เพื่อประเมิน บจ. ว่าทำได้ดีแค่ไหน จึงทำให้ทุก บจ. ต้องให้ความสำคัญในด้านนี้ โดยจะมีผลต่อมุมมองในระยะยาวหุ้นที่ทำ ESG ได้ดี จะมีความเสี่ยงต่ำเวลาเกิดข่าวร้ายขึ้นราคาจะไม่ทิ้งดิ่ง รวมทั้งนักลงทุนตลาดต่างประเทศ ก็ให้ความสำคัญกับ บจ. ที่มีคะแนน ESGสูง ซึ่งจะได้อัตราผลตอบแทนดีขึ้นเกือบ 1% ต่อปี ถ้าเทียบกับบริษัทที่มีคะแนน ESG ต่ำ
สำหรับ แนวโน้มการลงทุนด้าน ESG จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามเทรนด์ของโลก โดยการลงทุนประเภท ESG ของโลกจะโตปีละ 30% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก ในด้านอสังหาฯ บริษัทที่ทำจะเป็นที่น่าสนใจ ในส่วนของ บลจ. ไทยก็ตื่นตัวเรื่องนี้มาก ปีก่อนมีการออกกองทุนไทย ESG ใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะลงทุนในหุ้นที่มี ESG เรตติ้ง ในระดับ A ขึ้นไป.-511-สำนักข่าวไทย