กรุงเทพ 26 เม.ย. – “สุริยะ” กดปุ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) กำชับ รฟม.คุมเข้มงานก่อสร้างให้ได้ตามแผน คาดปี 2571 จะเริ่มเปิดใช้บริการได้รองรับการเดินทางวันละ 1.2 แสนคน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเริ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติและสัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า ณ จุดก่อสร้างอุโมงค์ Cut & Cover บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง กองพลทหารปืนใหญ่ ถนนทหาร เขตดุสิต
นายสุริยะ กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้เริ่มต้นก่อสร้างในปี 2565 งานโยธาธิการคาดว่าจะเสร็จในเดือนตุลาคม 2570 และเปิดใช้ได้ในปี 2571 โดยจะรองรับการเดินทางของพี่น้องประชาชนได้ประมาณ 1.2 แสนคน/วัน ซึ่งความคืบหน้าของโครงการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยขณะนี้มีความก้าวหน้ากว่า 30% ซึ่งตนเองได้กำชับเรื่องการก่อสร้างจะต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก พร้อมย้ำว่า เดือนกันยายน 2568 รถไฟฟ้าทุกสายจะเก็บค่าบริการ 20 บาทตลอดสายทุกสาย
ในวันนี้ (26 เมษายน 2567) หัวเจาะตัวที่ 1 จะเริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์สายใต้ (Southbound) จาก Cut & Cover ไปยังบริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระยะทาง 5.89 กิโลเมตร คาดว่าใช้เวลาประมาณ 20 เดือน จากนั้นในเดือนพฤษภาคม 2567 หัวเจาะตัวที่ 2 จะเริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) จาก Cut & Cover ไปยังบริเวณสถานีหอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 3.49 กิโลเมตร คาดว่าใช้เวลาประมาณ 12 เดือน และในเดือนตุลาคม 2567 หัวเจาะตัวที่ 3 จะเริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) ต่อจากสถานีหอสมุดแห่งชาติ ไปยังบริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระยะทาง 2.40 กิโลเมตร คาดว่าใช้เวลาประมาณ 7 เดือน ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ได้นำเทคโนโลยีหัวเจาะอุโมงค์สมดุลแรงดันดินที่มีประสิทธิภาพในการขุดเจาะใต้ดินที่มีสภาพเป็นดินเหนียวและทรายมาใช้ในงานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 โดยหัวเจาะอุโมงค์ที่นำมาใช้นี้มีขนาดความยาว 9.6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.58 เมตร น้ำหนัก 370 ตัน สามารถขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 5.70 เมตร ในระดับความลึก 15 – 35 เมตร ด้วยสมรรถภาพการขุดเจาะเฉลี่ยวันละ 10 – 15 เมตร หรือเดือนละ 350 เมตร
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรมเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการ เข้าด้วยกัน โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูนซึ่งเป็นสถานียกระดับและเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรมและรถไฟฟ้ามหาครสายเฉลิมรัชมงคล เป็นโครงสร้างยกระดับข้ามคลองบางซื่อ จากนั้นจะลดระดับลงเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบกและเลี้ยวขวาเลียบแนวถนนทหารบริเวณพื้นที่กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถนนราชดำเนินกลาง เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร สวนรมณีนาถ เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นโครงสร้างยกระดับวิ่งไปตามถนนสุขสวัสดิ์ผ่านแยกดาวคะนอง แยกบางปะแก้ว แยกประชาอุทิศ ข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร ผ่านสามแยกพระประแดงและสิ้นสุดที่บริเวณสถานีครุใน รวมระยะทาง 23.63 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร โครงสร้างยกระดับ 9.34 กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี สถานียกระดับ 7 สถานี มีสถานีจอดแล้วจร 2 สถานีจำนวน 4 อาคาร คือ สถานีบางปะกอก 2 อาคาร สถานีราษฎร์บูรณะ 2 อาคาร รองรับรถได้ประมาณ 1,900 คัน. -513-สำนักข่าวไทย