กรุงเทพฯ 13 ส.ค.- ผลสำรวจศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ ครึ่งปีหลังครัวเรือนร้อยละ 53 กังวลเรื่องค่าครองชีพ ปัญหาหนี้สิน และรายได้
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า จากการสำรวจมุมมองภาวะการครองชีพของครัวเรือนในภาวะปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนถึงระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่รายได้ครัวเรือนที่ไม่ปรับเพิ่มขึ้นหรือบางกลุ่มมีรายได้ลดลง ส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลต่อประเด็นเรื่องค่าครองชีพ โดย พบว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ครัวเรือน ร้อยละ 53 ที่ทำการสำรวจ กังวลประเด็นค่าครองชีพ ปัญหาหนี้สิน และเรื่องรายได้
ทั้งนี้ หากแบ่งตามกลุ่มรายได้ จะพบว่า ครัวเรือนกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 15,000 บาท/เดือน มีความกังวลเรื่องรายได้มากกว่าเรื่องภาระหนี้สิน ในทางกลับกัน ครัวเรือนกลุ่มผู้มีรายได้สูงกว่า 15,000 บาท/เดือน จะกังวลเรื่องปัญหาหนี้สินมากกว่าปัญหาเรื่องรายได้ หากแบ่งตามกลุ่มอาชีพ จะพบว่า ครัวเรือนกลุ่มอาชีพที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อการถูกเลิกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพรับจ้าง (รายวัน) รวมถึงพนักงานบริษัทเอกชนจะมีความกังวลต่อประเด็นรายได้และภาวะการมีงานทำมากกว่าประเด็นเรื่องภาระหนี้สิน ในขณะที่ครัวเรือนกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการถูกเลิกจ้าง เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ประกอบกิจการส่วนตัว รวมถึงค้าขาย กลับกังวลเรื่องภาระหนี้สินมากกว่าประเด็นเรื่องรายได้และภาวะการมีงานทำ
สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของครัวเรือนในเดือนก.ค. 2560 ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งมาจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า รวมถึงประเด็นเรื่องรายได้และภาวะการมีงานทำที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้ครัวเรือนที่ประกอบกิจการส่วนตัวพยายามที่จะปรับตัวทางธุรกิจ ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจส่งผลให้กระบวนการผลิตหยุดชะงักไปในบางธุรกิจและส่งผลต่อรายได้ที่เข้ามา นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องหนี้สิน ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานในเดือนก่อน ประกอบกับครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ไปสมัครเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้มีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ โดยมีจำนวนผ่านเกณฑ์ประมาณ 300 คนจากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการประมาณ 18,000 คน
นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของครัวเรือนในปัจจุบันที่ปรับตัวลดลง ยังส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลต่อภาวะการครองชีพในอนาคตเพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า หรือ 3-month Expected KR-ECI ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากความกังวลที่เพิ่มขึ้นในเรื่องหนี้สินและสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาสินค้าสาธารณูปโภค อาทิ ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่ปรับขึ้นจาก 3.5079 มาเป็น 3.5966 บาทจากการปรับขึ้นค่าไฟอัตโนมัติ หรือเอฟที อีก 8.87 สตางค์ในรอบเดือนก.ย. – ธ.ค. 2560 เนื่องจากครัวเรือนที่ทำการสำรวจไม่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จึงไม่ได้รับผลดีจากมาตรการของรัฐ ที่ช่วยเหลือเรื่อง ค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า-ค่าโดยสารสาธารณะฟรีที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2560-สำนักข่าวไทย