ทำเนียบฯ 18 เม.ย. – ครม. หนุนลงโทษผู้บริหารฉ้อโกงในบริษัทจดทะเบียน ชดใช้ความเสียหายกับนักลงทุนจากผลทุจริต คุมเข้มผู้สอบบัญชี คัดกรองหุ้นเด่นเข้าตลาด ดูแลนักลงทุน
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบแนวทางการแก้ไขกฎหมาย ป้องกันการทุจริตฉ้อโกงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอสภาพิจรณาร่างกฎหมาย โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่าง แก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 เกี่ยวกับผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชี เพื่อให้มีกฎหมาย สอดรับกับแนวทางการตรวจสอบและบทลงโทษผู้ที่ทำการทุจริตผ่านตลาดทุนไทย
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ภายใต้โครงการบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง เน้นมาตรการป้องกันปัญหาเกิดขึ้น และมาตรการส่งเสริมการทำหน้าที่ของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การคัดกรองคุณภาพและกำกับดูแลบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แนะตั้งคณะทำงานร่วมกันพิจารณาความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ และร่วมมือกับสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยในการจัดอบรมให้ความรู้กับผู้ลงทุน รวมถึงบุคลากรในหน่วยงานยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง
การส่งเสริมให้เกิดกระบวนการตรวจสอบการบริหารงานของบริษัทจดทะเบียน โดยผู้มีความรู้ในการลงทุนจะช่วยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ลงทุนที่มีอิทธิพลในการบริหารจัดการบริษัท (Activist Investors) เหมือนเช่นที่มีในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ศึกษาและพัฒนากฎหมายที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความทันสมัยและทันเหตุการณ์ณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับข้อเสนอแนะ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์เห็นว่า ควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี 2547 โดยให้สภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจกำกับดูแลผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชี สำนักงานบัญชี และสำนักงานสอบบัญชี เพื่อตรวจสอบคุณภาพ ผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชี สำนักงานบัญชี และสำนักงานสอบบัญชีในเชิงรุก การแก้ไขบทลงโทษให้ครอบคลุมบทลงโทษของสำนักงานสอบบัญชี
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เห็นว่า ควรเพิ่มมาตรการ ยึดหรืออายัดทรัพย์สินจากการกระทำความผิด ทุจริต ฉ้อโกง เกี่ยวกับการออกหลักทรัพย์ ให้ครอบคุลมไปถึงทรัพย์สินที่ได้มาหรือสงสัยว่าจะได้มาจากการกระทำความผิดหรือที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใดก็ตาม กำหนดมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด เช่น คำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลที่ได้รับความเสียหาย.-515-สำนักข่าวไทย