10 เม.ย. – กรมอุทยานฯ-ส.ป.ก. เห็นตรงกันถึงผลการตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อน หลังลงนาม MOU เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ คาดมีพื้นที่ทับซ้อน 190 แห่ง กว่า 5.2 แสนไร่ โดยจะนำพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมด รวมถึงพื้นที่พิพาทเขาใหญ่ เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการ One Map หาข้อยุติ
นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมนายวัฒนา มังธิสาร รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ร่วมแถลงผลการดำเนินงานตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาที่แต่ละหน่วยงาน ภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยทั้งสองกระทรวงตกลงกันเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณา เรื่องแนวเขตที่ดินที่คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ ในการลงนาม MOU ครั้งนั้นยังตกลงการปฏิบัติงานร่วมกัน 4 ประการ โดยการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีการดำเนินการแล้ว
ในส่วนแนวเขตป่าเขาใหญ่ได้ตกลงกันให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) โดยใช้หลักเกณฑ์ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอให้ ครม. เห็นชอบแล้วเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้ได้ข้อยุติต่อไป ส่วนผลการตรวจสอบ Shape File ตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาที่แต่ละหน่วยงานยึดถือ พบพื้นที่ที่คาดว่าจะทับซ้อนระหว่างพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ประกาศตามราชกิจจานุเบกษาแล้ว 291 แห่ง จำนวนพื้นที่ทับซ้อน 190 แห่ง เนื้อที่พื้นที่ทับซ้อนประมาณ 520,000 ไร่ โดยเห็นตรงกันว่าต้องใช้กลไก One Map ชี้ขาดว่าเป็นพื้นที่ตามกฎหมายของหน่วยงานใดกันแน่
นายวัฒนา มังธิสาร รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ในพื้นที่ที่คาดว่าทับซ้อนนั้น ระหว่างที่รอกลไก One Map ชี้ขาด ส.ป.ก. จะไม่ออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 รวมทั้งตรวจสอบด้วยว่าหากเป็นพื้นที่ที่ออก ส.ป.ก.4-01 โดยมิชอบตามหลักเกณฑ์ของ ส.ป.ก. ต้องเพิกถอน แต่หากเป็นพื้นที่โดยชอบจะปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน โดยไม่กระทบต่อราษฎรแต่อย่างใด
นายวีระ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพื้นที่เตรียมการป่าอนุรักษ์ 59 แห่ง ไม่มีพื้นที่ซับซ้อน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่แนวเชื่อมต่อป่าอนุรักษ์ (Corridor) 168 แห่งที่ออก ส.ป.ก.4-01 แล้ว 91 แห่ง เนื้อที่ 90,000 ไร่ และแนวกันชนป่าอนุรักษ์ (Buffer Zone) ระยะ 3 กิโลเมตร จากพื้นที่อนุรักษ์ที่มีการออก ส.ป.ก.4-01 แล้ว 355 แห่ง เนื้อที่ 9.6 ล้านไร่ แม้อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน แต่พื้นที่ทั้ง 2 ประเภทมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ไม้และสัตว์ป่าซึ่งกรมอุทยานฯ จะร่วมกับ ส.ป.ก. ส่งเสริมราษฎรให้ทำกินสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมต่อไป.-สำนักข่าวไทย