กรุงเทพฯ 16 ก.พ.- “กรุงไทย” คาดจีดีพีไทยปีนี้โต 2.7% แต่ยูโอบียังประเมินโต 3.6 % แนะภาคธุรกิจเตรียมรับมือเศรษฐกิจโลกรีเซตครั้งใหม่ ด้าน SCB EIC คาดปี กนง.ลดดอกเบี้ย หลังโมเมนตัม ศก.ไทย-เงินเฟ้อแผ่ว
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวอย่างจำกัดที่ระดับ 2.7% เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวได้จำกัด อาจขยายตัวเพียง 1.8% จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐ และจีน ขณะที่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็น 34 ล้านคน แต่ยังต่ำกว่าปกติที่ 40 ล้านคน แม้จะมีนโยบายฟรีวีซ่า นอกจากนี้ ไทยย้งมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง การบริโภคภาคเอกชนอาจชะลอตัว จากภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ขณะที่ธุรกิจเอกชนบางส่วนเผชิญความยากลำบากในการชำระคืนหนี้ โดยในส่วนที่ระดมทุนผ่านตราสารหนี้ อาจมีต้นทุนการออกหุ้นกู้และการชดเชยความเสี่ยงที่สูงมากขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกเสี่ยงรีเซตครั้งใหญ่ จากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะการเงินตึงตัวทั่วโลก และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนในระยะข้างหน้า แนะผู้ประกอบการกระจายตลาดลดความเสี่ยง ธุรกิจรายใหญ่และเอสเอ็มอีร่วมมือเพิ่มขีดแข่งขัน
ด้านธนาคารยูโอบี (ประเทศไทย) ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2567 โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.6% ปัจจัยหลักที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยคือ ภาคส่งออกสินค้า และภาคท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่แรงงาน โดยเฉพาะในภาคบริการ ควบคู่ไปกับการบริโภคภาคครัวเรือนที่จะยังคงแข็งแกร่งและได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ปรับดีขึ้น พร้อมกับการฟื้นตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ จะเป็นปัจจัยพื้นฐานเชิงบวกส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งแกร่งขึ้น รวมไปถึงมี เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทต่างชาติที่เดินหน้าย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากผลกระทบจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเมินค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และอยู่ที่ระดับ 34.8 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีแรก และมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในครึ่งปีหลัง
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ช่วงต้นปี ยังมีแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่เร่งตัวจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานยังอ่อนแอ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรม และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน มองไปข้างหน้า เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงไตรมาส 2 จากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นหลัก ประกอบกับภาครัฐอาจทยอยปรับลดความช่วยเหลือด้านพลังงานในไตรมาส 2 หลังราคาพลังงานโลกปรับลดลง และกองทุนน้ำมันเริ่มมีภาระหนี้สูงขึ้นมาก SCB EIC ยังคาดว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ จากสาเหตุ ดังนี้
- เศรษฐกิจและเงินเฟ้อแผ่วลงมากในปีนี้ เช่น หากเศรษฐกิจไทยเติบโตเหลือ 2.5% และแนวโน้มเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบ 1-3% มาก
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (Neutral rate) ที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ควรมีระดับต่ำลงกว่าที่เคยประเมินเอาไว้ สะท้อนจากมติ กนง. ไม่เป็นเอกฉันท์ในผลการประชุมวันที่ 7 ก.พ. 67 ที่เริ่มคำนึงถึงประเด็นนี้ สำหรับเงินบาทอ่อนค่าเร็วในช่วงต้นปี แต่แรงกดดันเงินบาทอ่อนค่า จะเริ่มลดลง เนื่องจากตลาด Price out การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ออกไปมากแล้ว และแรงกดดันด้านอ่อนค่าของสกุลเงินหลักในภูมิภาคจะลดลง ทั้งนี้ ยังคงมุมมองเงินบาทจะทยอยแข็งค่าได้สู่ระดับ 32.50-33.50 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นปีนี้
ขณะที่ธนาคารกลางกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก จะเริ่มปรับทิศการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาส 2 โดยประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed), ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 2 ตามทิศทางเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลง ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative interest rate) ในไตรมาส 3 (หรืออย่างเร็วไตรมาส 2) ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราส่วนการสำรองของธนาคารพาณิชย์ขั้นต่ำ (RRR). -511- สำนักข่าวไทย