กรุงเทพ 15 ก.พ.-เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุ สถานการณ์ประเทศไทยขณะนี้คือ “กบต้ม”คือปรับตัวได้ตลอดเวลา ประชาชนจำนวนมากยังลำบาก ดังนั้นจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ขณะที่ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุ แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยมี 4 ล้านคน ส่งเงินกลับไปยังประเทศของตนเดือนละ 1 แสนล้านบาท ส่วนกลางปีนี้จะเห็นตัวเลขค่าแรงขั่นต่ำ 400 บาทแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละจังหวัดด้วย
สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน SK speak #ไหวมั้ย..THAILAND การเงิน เศรษฐกิจ การลงทุน ฮวงจุ้ย ยุคที่ 9 โดยมีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธาน
น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะศิษย์เก่า OSK 87 กล่าวว่า จุดแข็งของประเทศไทย เราอยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่นิ่งที่สุดและเชื่อมกับประเทศที่มีประชากรมากมาย เช่น อาเซียนประชากร 600-700 ล้านคน จีนประชากร 1,400 ล้านคน แต่เราต้องเดินนโยบายให้ถูกต้อง ประเทศเราต้องไม่เป็นศัตรูกับใครเพราะการเมืองที่แท้จริงคือเรื่องเศรษฐกิจ โดยสถานการณ์ประเทศไทยขณะนี้คือ “กบต้ม”หมายถึง การปรับตัวได้ตลอดเวลา ที่ผ่านมาไทยเรามีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปี 1994-1996 ขยายตัว 7.5% ปี 1999-2007 ขยายตัว 5.2% ปี 2010-2019 ขยายตัว 3.6% โดยเศรษฐกิจไทยถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติโควิด ปัจจุบันยังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ประชาชนจำนวนมากยังลำบาก รายได้ยังไม่ฟื้นตัว คนรวยมีเพียง 10% ของประชากรทั้งประเทศ คนจนมีมากกว่า 50% ของประชากรทั้งประเทศ ถ้าเป็นอย่างนี้ เราจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีของไทย ทำงานหนักมากทั้งในและต่างประเทศเพื่อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรวมทั้งติดต่อภาคธุรกิจที่เป็นของจริง อย่างไรก็ตามจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ก็เกิดผลดีกับไทย เมื่อสหรัฐอเมริกา ต้องการเลือกประเทศในอาเซียนเพื่อพบปะพูดคุยกับจีน โดยจีนเสนอให้พบกันที่ประเทศไทย เพราะจีนไว้ใจไทยมากที่สุด ทั้งนี้ไทยเรายังมีศักยภาพที่ถูกละเลย ความสามารถที่ซ่อนเร้น คือ ภาคการท่องเที่ยว การบิน การขนส่ง การเกษตร อาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และเศรษฐกิจดิจิทัล สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทย ไปต่อได้และไปไหวตามหัวข้อปาฐกถาในครั้งนี้ มีอยู่ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ทิศทางเศรษฐกิจที่ดี 2.โครงสร้างพื้นฐานและกฎหมายทางการค้า และ 3.Human Capital เราต้องพัฒนาคนของเรา ซึ่งถ้าถามขณะนี้ว่า ไหวมั้ย..ไทยแลนด์ ขอตอบว่า เราจะต้องทำให้ไหว
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะศิษย์เก่า OSK 101 กล่าวว่า ในฐานะกระทรวงแรงงานที่ดูแลด้านแรงงาน เรารับผิดชอบเรื่องการหางานให้คนทำรวมทั้งการดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศ ปัจจุบันกระทรวงแรงงาน ได้เยียวยาแรงงานไทยในอิสราเอลทั้ง 9,000 คน โดยล่าสุดได้จ่ายเงินเยียวยาคนละ 50,000 บาทให้แรงงานไทยที่ไปทำงานในอิสราเอลไปแล้ว 70% คาดว่าจะจ่ายครบ 100%ในเร็วๆนี้ นอกจากนี้กระทรวงแรงงาน ยังต้องหางานให้คนพิการ ผู้สูงอายุ ในส่วนของแรงงานต่างด้าวจะมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือ แรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายและแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนตามมติ ครม.ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 4 ล้านคน โดยเป็นแรงงานชาวเมียนมา 75% กัมพูชา 17-18% และลาว 5% ทั้งนี้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนในระบบจะส่งเงินรายได้กลับไปยังประเทศของตนเองเดือนละประมาณ 1 แสนล้านบาท ถามว่า แบบนี้ จะไหวไหม เราต้องยอมรับความจริงว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในบ้านเรา จะทำในอาชีพที่คนไทยไม่ทำแล้ว เช่น ทำงานในโรงงานตัดหัวปลา งานก่อสร้าง ประมง เพราะแรงงานไทยได้ปรับตัวไปเป็นแรงงานที่มีฝีมือแล้ว ทั้งนี้ในฐานะปลัดกระทรวงแรงงาน ยังมีความเป็นห่วงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ปัญหาคือจะต้องมีความลงตัวทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง โดยกลางปีนี้ จะเห็นตัวเลขค่าจ้างแรงงานวันละ 400 บาทแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละจังหวัดด้วย
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะศิษย์เก่า OSK 101 กล่าวว่า เรื่องพลังงานขณะนี้มีแสงสว่างเพราะตลอดปี 2566 เราใช้พลังงานเหมือนกับในช่วงก่อนโควิด ยกเว้นน้ำมันอากาศยาน แต่การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น โดยการใช้ไฟฟ้าที่มากที่สุดเกิดขึ้นในช่วงเวลา 21 นาฬิกาของทุกวัน เพราะประชาชนเริ่มเปิดแอร์เพื่อเข้านอน นอกจากนี้ในปี 2566 ยังมีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนมากถึง 100,219 คัน เพิ่มขึ้น 480% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับก๊าซธรรมชาติ พื้นที่ระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่อ้างสิทธิเหลื่อมล้ำกันในเขตไหล่ทวีป คาดว่าจะใช้เวลา 5-6 ปีในการเจรจา
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในปี 2566 มีมูลค่า 284,561.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9,809,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 1% ซึ่งการส่งออกที่ติดลบ 1% นี้ ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศที่ส่งออกอื่นๆ เราติดลบน้อยที่สุด โดยมีการส่งออก อาหารและผลไม้ เป็นตัวชูโรงเพราะสินค้าเหล่านี้คือสินค้าจากรากหญ้า ซึ่งในปี 2567 การส่งออกอาหารและผลไม้ยังคงดีอยู่ โดยอินโดนีเซียกำลังนำเข้าข้าวจากไทย ทั้งนี้ในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ คาดว่า การส่งออกจะโตได้ 1-2% ถือเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของกระทรวงพาณิชย์. 513 .-สำนักข่าวไทย