อยุธยา 2 ก.ค.-ผู้ว่าการ ยสท. มุ่งส่งออกใบยาสูบบุกตลาดโลก เปิดรับซื้อใบยาสูบพันธุ์เบอร์เลย์ และใบยาเตอร์กิซ แบบไม่อั้น ยอมรับบุหรี่เถื่อนไหลทะลักตามชายแดน ถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมาย 2-3 เท่าตัว กระทบบุหรี่ถูกกฎหมาย อย่างมหาศาล
นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กล่าวว่า สถานการณ์ใบยาโลก ในปี 2566 ใบยาเบอร์เลย์ในตลาดโลกขาดแคลน ส่วนใบยาเตอร์กิซมีราคา ต่ำกว่าราคาตลาดโลก ยสท. จึงเปิดรับซื้อใบยาสูบพันธุ์เบอร์เลย์ และใบยาเตอร์กิซ ไม่จำกัดจำนวน เพื่อป้อนตลาดโลก เพราะยังเป็นทีต้องการจำนวนมาก นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้เพิ่ม เพราะได้ตั้งเป้าหมายกำไรจากปี 66 จำนวน 200 ล้านบาท เพิ่มเป็น 400 ล้านบาทในปี 67 เนื่องจากการขายบุหรี่ในประเทศส่วนแบ่งการตลาดลดลงต่อเนื่อง จากในปี 60 เคยมีส่วนแบ่งร้อยละ 80 ของตลาดทั้งหมด ลดเหลือร้อยละ 52 ในปี 66 จึงต้องหารายได้อื่นมาเพิ่มเติม รวมถึงเดินหน้าพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้มีมูลค่าเพิ่ม
ยอมรับว่า หลังการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ในช่วงที่ผ่านมาว่า ส่งผลกระทบต่อ ยสท. จำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิตลงด้วยการตัดโควตารับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรลดลงร้อยละ 50 ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องกว่า 500,000 ราย ทำให้รัฐและ ยสท. ต้องเพิ่มเงินสนับสนุนให้เกษตรกรกว่า 1,300 ล้านบาท ปัจจุบัน ยสท. มีโควตาการรับซื้อใบยาเวอร์ยิเนีย 4.73 ล้านกิโลกรัม ใบยาเบอร์เลย์ 7.1 ล้านกิโลกรัม และใบยาเตอร์กิซ 2 ล้านกิโลกรัม ในขณะที่ใบยาเวอร์ยิเนียนั้นมีราคาสูงกว่าราคาตลาดโลก ทำให้ส่งออกได้ยาก เพื่อระบายใบยาออกตลาดโลก และ ยสท. มีใบยาเวอร์ยิเนียคงคลังมากกว่า 2.9 ล้านกิโลกรัม ยสท. พร้อมแบกรับและช่วยเหลือชาวไร่และผู้บ่มใบยาเวอร์ยิเนีย
ขณะนี้กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการ ศึกษาแก้ไข โครงสร้างการจัดเก็บภาษีบุหรี่ใหม่ และอาจใช้โครงสร้างภาษีอัตราเดียวตามที่ส่วนใหญ่หลายประเทศใช้กัน ด้วยจัดเก็บภาษีตามปริมาณอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมา ยสท. ได้ศึกษาการจัดเก็บภาษีบุหรี่ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่า การจัดเก็บภาษีบุหรี่ในอัตราที่สูงขึ้น มุ่งหวังแก้ปัญหาผลกระทบจากการสูบบุหรี่ หวังลดปริมาณการบริโภค และเพิ่มรายได้ให้แก่ภาครัฐ ยสท. ยังพบว่า นโยบายด้านภาษีไม่ควรคำนึงถึงอัตราสัดส่วนในการจัดเก็บภาษีเพียงอย่างเดียว ควรพิจารณาให้รอบด้านในกรอบของ 3 มิติ คือ มิติทางด้านสุขภาพ มิติทางด้านเศรษฐกิจ และมิติทางสังคม ยสท. พร้อมปรับตัวรองรับการเสนอโครงสร้างการจัดเก็บภาษีบุหรี่ใหม่ ของกรมสรรพสามิต
ยสท. จากการศึกษาข้อมูลประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ต่างใช้โครงสร้างภาษีอัตราเดียว (เก็บภาษีตามปริมาณ) ยังคงแก้ไขปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมายไม่ได้ ในขณะที่ประเทศเวียดนาม และเมียนมาร์ นั้น จัดให้ยาสูบเป็นสินค้าพิเศษ ผูกขาดโดยรัฐ หรือมีมาตรการทางภาษีช่วยปกป้องอุตสาหกรรมยาสูบ ถือเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ยสท. มองว่าโครงสร้างภาษีอัตราเดียว หรือ Single Tier อาจมีความเหมาะสมและใช้ได้กับในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก แต่ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะมีปัญหาเรื่องบุหรี่ผิดกฎหมาย หรือบุหรีเถื่อนหนีภาษี ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมายได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม เนื่องจากบุหรี่ผิดกฎหมายไม่ได้เสียภาษีเข้ารัฐ จึงมีราคาถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมาย 2 – 3 เท่าตัว เมื่อบุหรี่แพงขึ้นจนเกินกำลังซื้อของประชาชน จึงเพิ่มแรงจูงใจให้สิงห์อมควันหันมาสูบบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้น
ยสท. ยอมรับว่า ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมายอย่างหนักหน่วง เพราะโครงสร้างภาษีที่ผ่านมา ส่งผลให้บุหรี่ต่างประเทศนำเข้า ใช้กลยุทธ์ปรับลดราคาขายปลีกซึ่งสวนทางกับภาษี ผู้บริโภคจึงหันไปสูบยาเส้นและบุหรี่ต่างประเทศนำเข้ามากขึ้น ดังนั้น หากปรับโครงสร้างภาษีเป็นอัตราเดียว จะกระทบอย่างมหาศาลต่อตลาดบุหรี่ถูกกฎหมาย และผู้ประกอบการ ยสท. และกระทบรายได้การจัดเก็บภาษีของรัฐ ประชาชนยังหันไปบริโภคยาเส้นและบุหรี่ผิดกฎหมายมากขึ้น ยสท. จึงเห็นว่า การปรับอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ของประเทศไทย ควรพิจารณาถึงผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ลดผลกระทบที่เกิดกับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบในประเทศ ไม่สามารถแก้ปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมายได้เห็นผลเป็นรูปธรรม
ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 ยอดภาษีจากการขายบุหรี่ 70,000 ล้านบาท แต่ถูกบุหรี่หนีภาษีลิดรอนไปแล้วถึงร้อยละ 25 หรือรายได้ภาษีหายไปกว่า 23,000 ล้านบาท ยอมรับว่า การลักลอบนำบุหรี่ผิดกฎหมาย ทั้งบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. และบุหรี่หนีภาษี มีราคาถูกกว่าบุหรี่ในประเทศหลายเท่าตัวเข้ามาจำหน่ายในประเทศสูงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ มีการสูบบุหรี่เถื่อนมากกว่าร้อยละ 70 ของการสูบบุหรี่ทั้งหมดในพื้นที่ภาคใต้ นับว่าบุหรี่ผิดกฎหมายมีแนวโน้มสูงถึงร้อยละ 22.3 ในปี 66 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 15.5 และบุหรี่หนีภาษี ได้แพร่ระบาดเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากขึ้น เติบโตอย่างรวดเร็วเกือบ 2 เท่าตัว ภายในระยะเวลา 6 เดือน
ในปัจจุบันโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบจัดเก็บภาษี ตามมูลค่า 2 อัตรา คือ 20% และ 40% ของราคาขายปลีกแนะนำ ซองละไม่เกิน 60 บาท ส่วนที่เกินราคา 60 บาท และจัดเก็บภาษีตามปริมาณ 1.20 บาทต่อมวน สำหรับการจัดเก็บภาษีตามมูลค่าอัตราเดียว คือ 40% และภาษีตามปริมาณ 1.20 บาทต่อมวน และยาเส้น จะมีอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และภาษีตามปริมาณ 0.10 บาทต่อกรัม ยสท. ได้รับตัวออกแบรนด์ตัวใหม่ ปรับราคาให้สู้กับตลาด.-515.-สำนักข่าวไทย