กรุงเทพฯ 18 ม.ค.- ก.ล.ต.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนในโทเคนดิจิทัล การให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้มีกลไกการกำกับเพียงพอและเหมาะสม สามารถคุ้มครองผู้ลงทุน สนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการระดมทุนเพื่อพัฒนาประเทศ มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 16 ม.ค.2567
ตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนในโทเคนดิจิทัล การให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม สอดรับกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล ควบคู่กับการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุน โดยยังคงสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตของตลาดทุนและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน และ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2566 โดยผู้แสดงความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการและร่างประกาศดังกล่าว
ก.ล.ต. จึงออกประกาศเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนในโทเคนดิจิทัล การให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) การกำกับดูแลการออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) โดยยกเลิกการจำกัดการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยสำหรับโทเคนดิจิทัลที่มีอสังหาริมทรัพย์หรือกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์สินอ้างอิง (real-estate backed ICO) และโทเคนดิจิทัลที่มีกิจการโครงสร้างพื้นฐานหรือกระแสรายรับจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นทรัพย์สินอ้างอิง (infra-backed ICO) จากเดิมจำกัดการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยไม่เกินรายละ 300,000 บาทต่อการเสนอขาย เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์และส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการระดมทุน
(2) การทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้มีผู้ประกอบธุรกิจประเภทผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (custodial wallet provider) และสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเกี่ยวข้องกันในลักษณะที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมกันได้ หากเป็นบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทย่อยตามที่กำหนด และอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และความพร้อมในการจัดเก็บหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินทางการเงินอื่นของลูกค้าและในการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ความเป็นอิสระต่อกันตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด
(3) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประสงค์จะประกอบกิจการอื่น กำหนดให้ต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต. ก่อนดำเนินการ เพื่อให้สามารถติดตามการประกอบกิจการอื่นดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
(4) การปรับปรุงมาตรฐานในการให้บริการ โดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่ให้บริการผ่านผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มความน่าเชื่อถือของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม
ทั้งนี้ การออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป.-516-สำนักข่าวไทย