กรุงเทพฯ 11 ม.ค.- บอร์ด ปตท. หารือพรุ่งนี้ ประเด็นชอร์ตฟอล 4.3 พันล้านบาท หวั่นกระทบความเชื่อมั่นสัญญา อาจหาเงินส่วนอื่นอุ้มค่าไฟทดแทน พร้อมแนะลดค่า AP และเงินส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่เป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟแพง ด้าน กกพ.ยังเสียงแข็ง บี้ ปตท. จ่ายก่อน แล้วค่อยยื่นฟ้องศาล
ผู้สื่อข่าว รายงาน ว่า วันพรุ่งนี้(12 ม.ค.67 ) คณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะมีการประชุม หารือเรื่องมาตรการลดค่าไฟฟ้า ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 และตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ให้ ปตท. จ่ายค่าปรับการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย กรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ(Shortfall) เป็นจำนวน 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเมื่อช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของการลดค่าไฟฟ้า งวดแรกปี 67 (ม.ค.-เม.ย.) ที่ทำให้ค่าไฟฟ้า ปรับลดลงเหลือ 4.18 บาท/หน่วย
แหล่งข่าวจาก ปตท. ระบุว่า ปตท. จะกลับมาดูรายละเอียดข้อกฎหมายทั้งหมดว่าสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากสัญญาการซื้อขายก๊าซฯ ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจากแหล่งผลิตก๊าซฯต่างๆ อีกทั้งยังเป็นสัญญามาตรฐานสากล หากดำเนินการผิดเงื่อนไขสัญญา จะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบความเชื่อมั่น การลงทุนระดับประเทศ ซึ่งผู้ผลิตปิโตรเลียมปัจจุบันมีหลายราย
อย่างไรก็ตาม ปตท. พร้อมปฏิบัติตามมติ ครม. เรื่องมาตรการลดค่าไฟฟ้า แต่อาจจะไม่ใช่เงินค่าปรับ Shortfall แต่จะมาจากเงินส่วนอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือทดแทน ขณะเดียวกันหากใช้เงินจาก ปตท. เพียงรายเดียว จำนวน 4,300 ล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องกับ ปตท.หรือ Stake Holder รวมถึงผู้ถือหุ้นรายย่อยของ ปตท. ดังนั้น กกพ. ควรจะพิจารณาประเด็นอื่นๆในการลดค่าไฟฟ้าร่วมด้วย เช่น แก้ปัญหาโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องแสตนบาย แต่ไม่ได้มีการผลิตไฟฟ้าจริง ซึ่งมีค่าพร้อมจ่าย (AP) ในระดับสูง รวมทั้งเงินส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่มีราคารับซื้อไฟฟ้าสูง หากปรับลดลงมาก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดค่าไฟลงได้เช่นกัน
ด้านแหล่งข่าวจาก กกพ. เปิดเผยว่า ค่าปรับ Shortfall เป็นสัญญาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายก๊าซ ดังนั้น ปตท.ในฐานะผู้ซื้อก๊าซฯ จะต้องจ่ายเงินจำนวน 4,300 ล้านบาท จากเดิม ปตท.ควรจ่ายเงินดังกล่าวตั้งแต่ปี 2566 แต่ ปตท. อุทธรณ์มาถึงต้นปี 2567 แต่เมื่อมติ ครม. ออกมาแล้วว่า ปตท.ต้องจ่ายเงินก้อนนี้ เพื่อเอามาเป็นส่วนลดค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.2567 อย่างไรก็ตามหาก ปตท. มองว่าไม่เป็นธรรมสามารถยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อไป
ก่อนหน้านี้ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 (ครั้งที่ 887) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 มีมติเห็นชอบเอฟทีขายปลีกเรียกเก็บสำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 39.72 สตางค์ต่อหน่วยตามสูตรการคำนวณเอฟที ส่งผลค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย มาจากหลายแนวทางทั้ง การที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสมสำหรับงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 จำนวน 15,963 ล้านบาท การปรับปรุงราคาประมาณการ Spot LNG จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 16.9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็น 14.3 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจากเดิม 387 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 365 บาทต่อล้านบีทียู การปรับปรุงตามมาตรการปรับราคาก๊าซฯเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซฯจากแหล่งอื่นๆ ด้วย ยกเว้นก๊าซฯที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซฯเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย (Gulf Gas) ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 365 บาทต่อล้านบีทียู เหลือ 343 บาทต่อล้านบีทียู และการเรียกเก็บ Shortfall กรณีที่ผู้ผลิตก๊าซในอ่าวไทยไม่สามารถส่งมอบก๊าซฯได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในช่วงปี 2563 – 2565 จาก ปตท. ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 343 บาทต่อล้านบีทียู เหลือ 333 บาทต่อล้านบีทียู -511 สำนักข่าวไทย