กรุงเทพฯ 29 พ.ย.- ส.อ.ท.กังวลรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่สูงปรี๊ด กดดันต่อต้นทุน ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 35 ในเดือน พ.ย.66 ภายใต้หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรให้ลูกจ้างและนายจ้างอยู่รอด” จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 256 ราย ครอบคลุมผู้บริหารจาก46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด
โดยผู้บริหาร ส.อ.ท.มีความกังวลกรณีที่ภาครัฐจะพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ในอัตราที่สูงเกินไป ซึ่งเป็นภาระที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระในการปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานเดิมตามฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ
ผลสำรวจปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีต้นทุนแรงงานอยู่ที่ 11-20% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้นผู้บริหาร ส.อ.ท.จึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ โดยยึดหลักการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) เพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน และควรมีมาตรการส่งเสริมกลไก Pay by Skill โดยเฉพาะการเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
ผู้บริหาร ส.อ.ท.ยังเห็นว่า ภาครัฐควรจะต้องแก้ไขปัญหาปากท้องของแรงงานในระยะยาวควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการดูแลลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น ลดค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งมีการกำกับดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและควบคุมให้มีการปรับราคาสินค้าขึ้น-ลงตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้แรงงานมีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้นและยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับตลาดอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มองว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการใช้แรงงานในภาคการผลิตอยู่ แต่จะเริ่มมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนการใช้แรงงานคนมากขึ้นในอัตราส่วนไม่เกิน 20% ของการใช้แรงงานคนในปัจจุบัน.-511 -สำนักข่าวไทย