กรุงเทพฯ 24 พ.ย.-สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนตุลาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 53.3 ตามคาดการณ์ผลจากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพที่ส่งผลถึงต้นทุนภาคการค้าได้รับอานิสงส์สูงสุด รวมถึงภาคการผลิตที่กลับมาเพิ่มกำลังการผลิตได้ในรอบ 9 เดือน เพื่อรองรับความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลปลายปี
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวถึงดัชนี SMESI ประจำเดือนตุลาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 53.3 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.8 ผลจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงปลายปี อีกทั้งสอดรับกับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพทั้งด้านค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งสะท้อนในรูปของต้นทุน และกำไรของภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน นอกจากนี้ภาคการผลิตและการค้าส่งยังมีการเร่งกำลังการผลิตเพื่อส่งสินค้าเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะกลุ่มการผลิตอาหาร ผลิตเสื้อผ้า รวมถึงผลิตภัณฑ์จากพลาสติกเพื่อรองรับความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลปลายปี
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อกิจการ SME ประเทศในเดือนนี้ ด้านผู้บริโภคหรือกำลังซื้อ ยังขยายตัวต่อเนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยว การจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ประกอบกับการจัดกิจกรรมงาน อีเว้นท์ต่าง ๆช่วยกระตุ้นการเดินทาง และการจับจ่ายใช้สอยได้เป็นอย่างดี ส่วน ปัจจัยที่ส่งผลทางลบยังคงเป็นด้านต้นทุน แม้ว่าราคาสินค้าวัตถุดิบบางรายการจะปรับราคาลดลงแต่ยังคงตัวในระดับสูงทำให้ความสามารถในการแข่งขันของ SME มีจำกัด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่คู่แข่งขันรายใหญ่ทยอยจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อและใช้บริการ ส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจ SME ที่มีข้อจำกัด
ในการปรับราคาสินค้า/บริการ
องค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ การลงทุน ต้นทุน กำไร และการจ้างงาน ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ62.1 58.7 52.8 39.5 56.2 และ 50.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบจากระดับ 60.5 57.6 54.5 36.6 51.0 และ 50.5 ตามลำดับในเดือนก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าระดับค่าฐาน 50 ยกเว้นต้นทุนแต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล มีผลให้ดัชนีองค์ประกอบด้านกำไร และด้านต้นทุนปรับตัวดีขึ้นร้อยละ10.2 และ 7.9 ตามลำดับ รวมถึงด้านปริมาณการผลิตเริ่มกลับมาปรับตัวได้ดีขึ้นจากที่ซบเซามาตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา
หากพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ดัชนี SMESI ภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคการบริการ ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และเกือบทั้งหมดอยู่สูงกว่าระดับค่าฐาน จากกำลังซื้อในประเทศอานิสงส์ของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ อีเว้นท์ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเดินทาง ส่งผลดีต่อภาคการค้าสูงที่สุด อีกทั้งช่วยให้ภาคการผลิตเริ่มกลับมาผลิตสินค้าเพื่อเตรียมรองรับความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจการเกษตรชะลอตัวลง จากสภาพอากาศที่แปรปรวนซึ่งกระทบต่อการทำกิจกรรมทางการเกษตร
สำหรับ ดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนตุลาคม 2566 ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกภูมิภาค และทั้งหมดอยู่สูงกว่าระดับค่าฐาน ทั้งจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ กิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทำให้มีการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกเว้น ภาคเหนือ ที่เศรษฐกิจในพื้นที่ค่อนข้างทรงตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน กระทบกับธุรกิจโดยเฉพาะภาคการผลิตที่พึ่งพากำลังซื้อต่างชาติ เช่น กลุ่มเสื้อผ้า
เครื่องหอม เป็นต้น
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัว อยู่ที่ระดับ 56.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 57.1 แม้ผู้ประกอบการจะมองว่ากำลังซื้อจะยังคงดีต่อเนื่องจากช่วงเทศกาลปลายปี แต่มีความกังวลด้านต้นทุน โดยเฉพาะราคาน้ำตาลที่จะปรับสูงขึ้นและอาจขาดแคลนสินค้าผลผลิตทางการเกษตรจากผลของสภาพอากาศ เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และมีแนวโน้มที่จะมีการจ้างงานมากขึ้น .-สำนักข่าวไทย