กรุงเทพฯ 2 พ.ย.-ผู้ว่าฯ กยท. ระบุ รมว. เกษตรฯ ส่งหนังสือถึง รมว.คลัง และ รมว.มหาดไทย ให้พิจารณาปรับหลักเกณฑ์ภาษีที่ดินสวนยางพารา โดยปรับอัตราการปลูกขั้นต่ำ 25 ต้น/ไร่ ตาม พ.ร.บ. กยท. และ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อบรรเทาภาระภาษีของเกษตรกร
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอให้พิจารณาปรับอัตราขั้นต่ำต้นยางเป็น 25 ต้น/ไร่ ให้สอดคล้องกับอัตราการจัดเก็บภาษี ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 4 ที่ได้กำหนดนิยามของคำว่าสวนยาง หมายถึง “ที่ดินปลูกต้นยางเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 2 ไร่ แต่ละไร่มีต้นยางปลูกไม่น้อยกว่า 10 ต้น โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น” เพื่อช่วยบรรเทาภาระด้านภาษีให้กับเกษตรกร
จากที่มีประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) บังคับใช้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ให้เกษตรกรที่มีการปลูกยางพาราไว้ 80 ต้นต่อไร่ เสียภาษีในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.15 ของฐานภาษ และสวนยางที่ปลูกต่ำกว่า 80 ต้นต่อไร่ ต้องเสียภาษีอัตราไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี
ทั้งนี้ร้อยเอกธรรมนัสทราบถึงผลกระทบที่เกษตรกรจะได้รับจากการประกาศใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงเสนอปรับหลักเกณฑ์ โดยขอให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแก้ไขประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
นายณกรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้สำรวจปริมาณการผลิตยางพารา พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกยางพาราน้อยกว่า 80 ต้น/ไร่ เนื่องจากหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานปลูกพืชอื่นแซมยางมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของ กยท. ที่ได้สนับสนุนให้เกษตรกรทำสวนยางแบบยั่งยืน เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง นอกจากนี้ ปัจจัยที่เกิดจากภัยธรรมชาติอื่นๆ มีผลให้จำนวนต้นยางต่อไร่มีไม่ถึง 80 ต้น ด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงสมควรปรับอัตราต้นยางต่อไร่ให้สอดคล้องกับสภาพจริง เพื่อประโยชน์และความเป็นธรรมต่อเกษตรกร.-สำนักข่าวไทย