นนทบุรี 1 พ.ย. – นบข. ไฟเขียวมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปี 66/67 ใช้มาตรการชะลอการขายข้าวเปลือกผ่านกลไกสหกรณ์การเกษตร 600 แห่ง ให้สหกรณ์และสถาบันเกษตรกร ช่วยรับซื้อ เพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป มอบคลังช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ขอประเมินอีกครั้ง เหตุมาตรการที่มีดูแลราคาข้าวได้ และราคายังมีเสถียรภาพ
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้พิจารณามาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 มาตรการแล้ว และไม่ขัดข้องในหลักการและวัตถุประสงค์ในการเก็บสตอก และเร่งรับซื้อเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาให้กับเกษตรกร ที่ผลผลิตกำลังจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 นี้
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนี้ ได้เห็นชอบวิธีการในการดำเนินมาตรการชะลอการขายข้าวเปลือก โดยใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกกรณ์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 600 กว่าแห่ง โดยมอบหมายกระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โดยพิจารณารายละเอียดการให้สินเชื่อ การช่วยเหลือในการเก็บสตอกข้าว และการใช้จ่ายงบประมาณ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
ส่วนมาตรการรวบรวมรับซื้อข้าวโดยสถาบันเกษตรกร โดยใช้กลไกสหกรณ์และสถาบันเกษตรกรช่วยเร่งรับซื้อข้าวเปลือกที่กำลังจะออกสู่ตลาดในขณะนี้ เพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. พิจารณารายละเอียดวิธีการให้สินเชื่อและการช่วยเหลืออัตราดอกเบี้ยแก่สหกรณ์และสถาบันเกษตรกร และการใช้จ่ายงบประมาณ นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
สำหรับมาตรการเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ มอบหมายกระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา กรณีธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อและเงื่อนไขการให้สินเชื่อประกอบการรับซื้อ เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้สามารถเร่งรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร นบข. มีความเห็นว่าเนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวยังมีเสถียรภาพ และคาดว่าการดำเนินมาตรการชะลอการขายและมาตรการรวบรวมรับซื้อข้าวโดยสถาบันเกษตรกร จะสามารถช่วยรักษาระดับราคาในช่วงที่ออกสู่ตลาดมากได้ จึงกำหนดให้มีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ได้พิจารณาปรับเปลี่ยนชื่อข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลัก ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนเกษตรกร ผู้ประกอบการค้าข้าว และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา) เป็น “ข้าวหอมมะลิ” และนำเสนอ นบข. ต่อไป
ขณะเดียวกันได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการข้าวตามนโยบายของรัฐบาลจำนวน 7 โครงการ จากสิ้นสุดเดือนกันยายน 2566 เป็นจนกว่าคดีจะสิ้นสุดในชั้นศาล เนื่องจาก อคส. และ อ.ต.ก. ยังมีภาระทางคดีและการระบายข้าวยังไม่สิ้นสุด และมอบหมาย อคส. เร่งรัดดำเนินการระบายข้าวคงเหลือในคลังกลางของรัฐให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2567 ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการโดยเคร่งรัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ รวมทั้งมอบหมาย อคส. และ อ.ต.ก. รายงานความคืบหน้าการดำเนินคดี รวมทั้งการดำเนินการทางกฎหมาย ให้ฝ่ายเลขานุการ นบข. ทราบเป็นประจำทุกปี เพื่อรายงาน นบข. ต่อไป.-สำนักข่าวไทย