บอร์ดอีวีไฟเขียวมาตรการ EV 3.5 พร้อมขยายจดทะเบียนรถ EV ที่ได้สิทธิ์

ทำเนียบฯ 1 พ.ย.-บอร์ดอีวีไฟเขียวมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ในช่วง 4 ปี (2567 – 2570) เดินหน้าสู่เป้าหมาย 30@30 ภายในปี 2573 ผลักดันไทยขึ้นแท่นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของภูมิภาค และติด Top10 ของโลก เผยโครงการระยะแรก 9 เดือน มีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่พุ่ง 7.6 เท่า สร้างการลงทุนกว่า 61,000 ล้านบาท


นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดอีวีชุดใหม่ซึ่งมี นายเศรษฐาทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า บอร์ดอีวีเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567 – 2570) เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการ EV3.5

สำหรับมาตรการ EV 3.5 รัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ ดังนี้ รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน  ระหว่าง 50,000 – 100,000 บาท/คัน สำหรับขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 20,000 – 50,000 บาท/คัน 


รถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 50,000 – 100,000 บาท/คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 5,000 – 10,000 บาท/คัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบีโอไอ กรมสรรพสามิต กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน จะหารือร่วมกันเพื่อกำหนดอัตราเงินอุดหนุนที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นอัตราเดียว เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในเดือนพฤศจิการยนนี้

ส่วนการลดอากรนำเข้าไม่เกินร้อยละ 40 สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ในช่วง 2 ปีแรก (พ.ศ. 2567 – 2568) กรณีเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ภายในปี 2570 พร้อมทั้งกำหนดให้แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปที่นำเข้า และผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานตามมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ(ATTRIC) ที่จ.ฉะเชิงเทรา

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมสรรพสามิตขยายเวลาการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการEV 3 จากเดิมที่ต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ให้ขยายเวลาเป็นต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 มกราคม 2567 เพื่อให้ผู้บริโภคที่จะตัดสินใจซื้อยานยนต์ไฟฟ้าภายในงาน Thailand International Motor Expo ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2566 ยื่นจดทะเบียนได้ทันภายในเดือนมกราคม 2567


“นายกสั่งเดินหน้ารถ EV อย่างเต็มที่ ซึ่งมาตรการ EV 3.5 ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ที่ต้องการผลักดันให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบายในการสนับสนุนให้ไทยเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค และดึงนักลงทุนรายใหม่ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทย และทำให้ไทยสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 “ นายนฤตม์ กล่าว

สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะแรก หรือ EV 3 ในปี 2565  มีผู้เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนฯรวมทั้งสิ้น 13 แบรนด์ จาก 15 บริษัท ทั้งในประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สร้างผลสำเร็จในการกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้(มกราคม – กันยายน 2566) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 50,340 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 7.6 เท่า และนับตั้งแต่มีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2560 ได้ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่(BEV) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สาวซิ่งรถหรูชน 3 แม่ลูกเสียชีวิต เข้ามอบตัว

สาวขับรถหรู ชน 3 แม่ลูกเสียชีวิตที่ชุมพร เข้ามอบตัวกับตำรวจแล้ว อ้างยืมรถเพื่อนมาขับ ศาลให้ประกันตัววงเงิน 1 แสนบาท

สงขลาประกาศเขตภัยพิบัติแล้วทุกอำเภอ เร่งช่วยน้ำท่วมวิกฤติ

ผู้ว่าฯ สงขลา ลงนามประกาศให้ทั้ง 16 อำเภอ เป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอุทกภัยและวาตภัย เพื่อเร่งรัดให้ความช่วยเหลือประชาชน บรรเทาความเดือดร้อน โดย อ.จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ยังมีระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้น

ข่าวแนะนำ

ยะลาอ่วม บางจุดน้ำท่วมสูงกว่า 5 เมตร จนท.นำอาหารแจกจ่ายชาวบ้าน

เจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และมูลนิธิลิ้มกอเหนียว นำอาหาร น้ำดื่ม และช่วยเหลือชาวบ้าน ต.ท่าสาบ อ.เมือง จ.ยะลา ที่ติดค้างอยู่ภายในบ้าน เนื่องจากระดับน้ำบางจุดท่วมสูงกว่า 5 เมตร

ปัตตานีจมบาดาล-ถนนถูกตัดขาด

สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ยังวิกฤติในหลายจังหวัด เพราะฝนยังไม่หยุดตก ทำให้การระบายน้ำแทบไม่สามารถทำได้เลย โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ชาวบ้านเดือดร้อนหนักหลายแสนคน

เร่งรื้อถอนคานถล่ม ถ.พระราม 2 จราจรติดขัดหนัก

เหตุแผ่นยกคานปูนและเครนก่อสร้างถล่มบนถนนพระราม 2 จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังคงรื้อถอนโครงสร้างที่พังถล่มไม่แล้วเสร็จ ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด ขณะที่การจราจร ถ.พระราม 2 ทั้งขาเข้า-ขาออก ติดขัดหนัก แนะเลี่ยงเส้นทาง

นายกฯ สั่งระดมช่วยน้ำท่วมใต้-เร่งเยียวยา

นายกฯ สั่งระดมช่วยเหลือน้ำท่วมใต้-เร่งมาตรการเยียวยา เผย ครม.เห็นชอบ 39 โครงการฟื้นฟูพื้นที่อุทกภัย เชียงใหม่-เชียงราย 641 ล้านบาท