สระบุรี 29 ต.ค.-ธ.ก.ส. ติดตามพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อย จ.สระบุรี ตรวจสอบสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” ชูตัวอย่างศูนย์การเรียนรู้ตลาดหัวปลี และศูนย์เรียนรู้สวนเพิ่มบุญ ร่วมฟื้นฟูอาชีพ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยนายยุวพล วัตถุ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ติดตามมาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ณ 30 กันยายน 2566 โดยมีลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการกว่า 2 ล้านราย ยอดหนี้ 283,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. ได้เปิดบูธให้บริการตรวจสอบสิทธิ์และแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านแอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567
โดยติดตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทั้งการตรวจสอบสิทธิ์ การตรวจสุขภาพหนี้ การทำเอกสารข้อตกลงต่อท้ายสัญญา และการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมเติมสินเชื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการพักชำระหนี้และป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ โดยมีคณะผู้บริหารและพนักงาน ธ.ก.ส. ในพื้นที่และเกษตรกรลูกค้า เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คน ณ อำเภอแก่งคอยและอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2566
นายยุวพล วัตถุ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 26 ก.ย. 2566 ให้ดำเนินมาตรการในการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรและบุคคลที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระ ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกัน ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท ธ.ก.ส. ได้เปิดระบบการแจ้งความประสงค์และตรวจสอบสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567 ปัจจุบันมีผู้แจ้งความประสงค์แล้วกว่า 880,345 คน (ณ 26 ตุลาคม 2566) ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและลูกค้ารายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการ เพื่อตรวจสอบขั้นตอนและกระบวนการทำงานว่ามีจุดใดที่มีปัญหา เพื่อปรับปรุงให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว สำหรับพื้นที่จังหวัดสระบุรี มีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว จำนวนกว่า 11,647 ราย จำนวนหนี้ 1,547 ล้านบาท และมีผู้แจ้งความประสงค์ผ่าน แอปพลิเคชัน BAAC Mobile แล้วกว่า 2,884 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2566)
การดำเนินมาตรการในครั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมแกร่งให้กับเกษตรกรในการประกอบอาชีพระหว่างการพักหนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอและสามารถชำระหนี้ได้ โดยชูต้นแบบการฟื้นฟูศักยภาพชุมชนอย่างศูนย์การเรียนรู้ตลาดหัวปลี ตลาดชุมชนที่จำหน่ายสินค้าโอทอป (OTOP) ที่มาจากผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านในจังหวัดสระบุรี อาทิ อาหารท้องถิ่น ของใช้ ผักพื้นบ้าน และผักปลอดสารพิษ โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเดินเล่น ชม ชิม ช้อปสินค้า พร้อมพักผ่อนไปกับบรรยากาศสบาย ๆ นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพของเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ให้กับผู้ที่สนใจสำหรับการนำไปใช้พัฒนาและต่อยอดการประกอบอาชีพ
จากนั้น เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้สวนเพิ่มบุญ วิสาหกิจชุมชนภูริธาราพรรณ ที่ประกอบอาชีพผลิตกระชายขาว พันธุ์ท้องถิ่น โดยหันมาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ด้วยการแปรรูปเป็นกระชายผงพร้อมดื่มและกาแฟกระชายปรุงสำเร็จโดยใช้วิธีการ Freeze Dried ที่ทันสมัย เพื่อให้ได้สารอาหารในเครื่องดื่มที่สมบูรณ์ที่สุด ลดความเผ็ดร้อนลง และดื่มได้ง่าย นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังมีการพัฒนาพื้นที่สวนเพิ่มบุญให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสมุนไพรและสุขภาพที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนโครงการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ เพื่อร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการพักหนี้ .-สำนักข่าวไทย