ทำเนียบรัฐบาล 11 มิ.ย. – ครม.เห็นชอบโครงการปรับพื้นที่ในการปลูกพืชให้เหมาะสมฯ วงเงิน 1,296 ล้านบาท
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการปรับพื้นที่ในการปลูกพืชให้เหมาะสมภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/2561 เพื่อมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกให้หันมาเลี้ยงปศุสัตว์แทน วงเงิน 1,296 ล้านบาท โดยประกอบด้วย 3 โครงการ คือ 1. โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เพื่อลดอุปทานข้าวเปลือก โดยการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปศุสัตว์ โดยพื้นที่ที่ดำเนินการ คือ พื้นที่ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรทั่วประเทศ ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2560 – 2562 เป้าหมาย 100,000 ไร่ รับสมัครตั้งแต่ มิ.ย. – ธ.ค. 60 ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ พืชที่ปลูก เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง กระถิน หญ้าแพงโกรา พืชตระกูลถั่วและพืชอื่นๆที่เป็นอาหารสัตว์ได้ โดยปลูกเพื่อจำหน่ายร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือไว้เลี้ยงปศุสัตว์ของตนเอง โดยเกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตพืชอาหารสัตว์ไร่ละ 6,000 บาท แบ่งจ่าย 3 ปี ปีละ 2,000 บาท โดยจ่ายเงินผ่าน ธ.ก.ส. ใช้วงเงินงบประมาณทั้งหมด 222.1 ล้านบาท
2. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2561 เพื่อลดรอบการทำนาในฤดูนาปรัง ให้หันปลูกพืชทางเลือกอื่น สร้างรายได้ดีกว่าการทำนาปรัง พื้นที่ดำเนินการ 53 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 15 จังหวัด คือ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงราย เชียงใหม่ นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ลำปาง แพร่ น่าน และตาก ภาคกลาง 9 จังหวัด คือ ชัยนาท อยุธยา ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง กรุงเทพฯ สิงห์บุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร หนองคาย อุดรธานีอุบลราชธานี นครราชสีมา ยโสธร หนองบัวลำภู บึงกาฬ สุรินทร์ มุกดาหาร เลย บุรีรัมย์ และอำนาจเจริญ
ภาคตะวันออก 4 จังหวัด คือ ชลบุรี ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา ภาคตะวันตก 5 จังหวัด คือ ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 400,000 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 80,000 ครัวเรือน ระยะเวลาดำเนินการ ส.ค. 60 – มิ.ย. 61 โดยมีระยะเวลาการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย ตั้งแต่ 1 พ.ย. 60 – 30 เม.ย.61 โดยเกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ หลากหลายตามความต้องการของเกษตรกร ยกเว้น หญ้าเลี้ยงสัตว์ อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชปุ๋ยสด ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ที่มีอายุเก็บเกี่ยวมากกว่า 120 วัน ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวห้ามไม่ให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังควบคู่ไปด้วย ยกเว้นพื้นที่รับน้ำที่มีการประกาศให้ทำข้าวนาปีเร็วขึ้น สามารถเลือกช่วงเวลาปลูกพืชหลากหลายได้ ตั้งแต่ 1 พ.ย. 60 – 1 ก.พ. 61 ทั้งนี้ เกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปลูกไร่ละ 2,000 บาท โดยจ่ายเงินผ่าน ธ.ก.ส. ใช้วงเงินงบประมาณทั้งหมด 864.53 ล้านบาท
3. โครงการปลูกพืชปุ๋ยสดฤดูนาปรัง ปี 2561 เพื่อลดอุปทานข้าวเปลือก โดยปลูกพืชปุ๋ยสดทดแทนในนาข้าว เพิ่มคุณภาพบำรุงดิน พื้นที่ดำเนินการ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ชัยนาท สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทราและสมุทรสาคร เป้าหมายพื้นที่ 200,000 ไร่ เวลาดำเนินการ มิ.ย. 60 – มิ.ย. 61 มีระยะเวลาปลูกและไถกลบพืชปุ๋ยสด ตั้งแต่ พ.ย. 60 – พ.ค. 61 ครัวเรือนละ ไม่เกิน 15 ไร่ โดยกรมพัฒนาที่ดินจะจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด สนับสนุนไร่ละ 5 กิโลกรัม โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าไถเตรียมดินไร่ละ 500 บาท ค่าไถกลบ 500 บาท รวม 1,000 บาท โดยจ่ายเงินผ่าน ธ.ก.ส. ใช้วงเงินงบประมาณทั้งหมด 229.9 ล้านบาท -สำนักข่าวไทย