กรุงเทพ 19 ต.ค.- “มนพร” มอบนโยบาย ขสมก. เชื่อมต่อระบบ ล้อ ราง เรือ และเร่งรัดการจัดหารถเมล์ใหม่ ในลักษณะเช่าเอกชน จะทำให้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าซ่อมและผลขาดทุนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมียอดหนี้สะสมสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานและมอบนโยบายแก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและอู่บางเขน โดย ขสมก.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่จัดรถโดยสารประจำทางวิ่งให้บริการประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงอีก 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาครและนครปฐม ดำเนินกิจการมาครบ 47 ปีแล้ว
นางมนพร เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยม ขสมก. ว่า มาลงพื้นที่เพื่อให้กำลังพี่น้อง ขสมก.ที่ต้องจัดหารถบริการพี่น้องประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนกว่า 6,500 เที่ยวต่อวันซึ่งถือเป็นงานที่หนักและต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการให้บริการของ สขมก.จะต้องครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเรื่องมิติทางเศรษฐกิจ มิติด้านความปลอดภัย มิติการให้บริการที่เป็นสากล และ มิติด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อการขนส่งทั้งทางน้ำ ทางบก ทางเรือ ทางราง ได้แบบไร้รอยต่อ
นอกจากนี้นางมนพร ยังได้สั่งการกับผู้บริหาร ขสมก.ถึงแนวทางการทำงานหลังจากนี้ เนื่องจากปัจจุบัน ขสมก.เป็นหน่วยงานที่มีผลขาดทุนต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งผลการดำเนินงานด้านการเงิน พบว่ามีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท แต่กลับมีค่าใช้จ่าย และต้นทุนทางการเงิน เฉลี่ยต่อปี 1.25 หมื่นล้าน และผลขาดทุนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมียอดหนี้สะสมสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งหลังจากหารือกับผู้บริหาร ขสมก. ก็พบว่าภาระหนักที่ทำให้องค์กรขาดทุนต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนค่าซ่อมรถที่มีเฉลี่ยปีละ 1.9 พันล้านบาท หาก ขสมก.สามารถเร่งรัดการจัดหารถเมล์ใหม่ ในลักษณะเช่าเอกชน ก็จะทำให้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าซ่อมส่วนนี้ และจะเป็นผลดีต่อต้นทุนลดลง และหากมีรถเมล์ใหม่ งานบริการที่ดีขึ้น ก็จะทำให้ ขสมก.กลับมาทำกำไร และออกจากแผนฟื้นฟูได้
ทั้งนี้ นางมนพร อยากให้เร่งรัดจัดทำแผนจัดหารถโดยสารใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นเช่ารถเพื่อไม่ให้มีต้นทุนค่าซ่อม ปรับใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้งานบริการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและย้ำว่า ขสมก.จะต้องรายงานแผนจัดหารถโดยสารนี้กลับไปภายใน 6 เดือน เพื่อเตรียมดำเนินการจัดหารถ หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.ชุดใหม่ที่คาดว่าจะได้บอร์ดชุดใหม่ภายในต้นปี 2567 ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนจะเร่งดำเนินการหลังจากนี้ สำหรับแผนจัดหารถโดยสาร ขสมก.จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 จัดหารถโดยสารจำนวน 224 คัน มูลค่า 341 ล้านบาท
ระยะที่ 2 จัดหารถโดยสาร จำนวน 1,020 คัน มูลค่า 1,939 ล้านบาท
ระยะที่ 3 จำนวน 769 คัน มูลค่า 3,201 ล้านบาท
โดยจะจัดหาด้วยวิธีการเช่า ภายในระยะเวลาประมาณ 3 – 5 ปี คาดว่าจะลดต้นทุนทางการเงินได้ทันทีประมาณ 60% ประกอบด้วย ค่าเหมาซ่อม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าประกันภัย เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย