กรุงเทพฯ 6 ต.ค.-ส.อ.ท. ได้ยื่นข้อ 8 ข้อเสนอต่อนายกฯถึงแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมไทย โดยเป็นการมุ่งเน้นพัฒนา 3 ด้าน คือ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน การขับเคลื่อน GDP ให้เติบโตมากขึ้น และความยั่งยืนทั้งเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมหารือกับทีมผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) นำโดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เพื่อผลักดันแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทย โดยประธาน ส.อ.ท. ได้ยื่นเสนอแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่ 8 ข้อ โดยเป็นการมุ่งเน้นพัฒนา 3 ด้าน คือ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน การขับเคลื่อน GDP ให้เติบโตมากขึ้น และความยั่งยืน ทั้งเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG
นายเกรียงไกร เปิดเผยการหารือว่า นายกรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอของภาคเอกชน โดยจะจัดตั้งทีมงานเพื่อมาทำงานร่วมกับ ส.อ.ท.อย่างใกล้ชิด พร้อมขอให้ทาง ส.อ.ท.จัดทำแผนการดำเนินงาน หรือ Action Plan ที่เป็นแนวทางการการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยระยะสั้น กลาง และยาว ซึ่ง ส.อ.ท.จะเร่งดำเนินการจัดทำให้เสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์เพื่อนำเสนอนายกฯ ต่อไป และนายกรัฐมนตรีได้ฝากการบ้านเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่อยากให้ช่วยกันแก้ไขโดยจัดทำAction Plan เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์เอญนีโญมีจะมีผลต่อภัยแล้งในเดือนเมษายน 2567 ที่จำเป็นต้องเร่งป้องกันแก้ไขเพื่อไม่ให้กระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีและภาคการเกษตรซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหาร
นอกจากนี้ นายกฯได้ยืนยันจะสนับสนุนการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน(ICE) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เพื่อความสมดุลซึ่งระบุว่าจะเป็น The last man standing คือเป็นประเทศสุดท้ายในการยกเลิกการใช้โดยจะไม่มีการหักดิบเพราะการลงทุนยานยนต์ชนิด ICE เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพของไทยและก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 6 แสนคนจึงมีระยะเวลาที่จะเปลี่ยนผ่านได้มากขึ้นเพราะขณะนี้น้ำมันเชื้อเพลิงไทยก็มีมีมาตรฐานสูงเช่น ยูโร 6 ก็จะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน
“ นายกฯ ยืนยันว่าให้ความสำคัญกับการเจรจาทำข้อตกลง FTA กับประเทศต่างๆ มากขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการค้าของไทยจึงไม่ต้องกังวล และเราเองก็ได้เสนอให้มีการหารือในเวทีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ใหญ่หลังจากที่ไม่มีการหารือมา 5-6 ปีก็รับปากไว้ว่าจะหาเวลาในการร่วมประชุม รวมถึงการเร่งการดึงการลงทุนหรือการย้ายฐานในอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น”นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับข้อเสนอ 8 ข้อหลัก ที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมEase of Doing Business และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2. การพัฒนาบุคลากร เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระบบ 3. การบริหารจัดการด้านพลังงานทั้งระบบรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition)
4. การส่งเสริมการส่งออก การค้า และสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) 5. การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล 6. การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (BCG & ESG) การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า และการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero 7. การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs 8. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Logistics และพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม .–สำนักข่าวไทย