กระทรวงการคลัง 26 ก.ย. – ครม. เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี กลุ่มเป้าหมาย 2.7 ล้านราย ยืม ธ.ก.ส. 1.1 หมื่นล้านบาท/ปี มุ่งพัฒนาอาชีพ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เริ่ม 1 ต.ค.66
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลเฟส 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี รัฐบาลรับภาระหนี้ดอกเบี้ยแทนเกษตรกร 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ด้วยการให้ ธ.ก.ส. สำรองออกไปก่อน ตาม ม. 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ประกอบด้วย
1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย 2.7 ล้านราย สำหรับผู้เป็นหนี้ ณ 30 กันยายน 2566 วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท ให้สิทธิกับผู้เป็นหนี้ปกติ หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (NPLs) ได้รับสิทธิ์พักชำระหนี้ เฟสแรก เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566- 30 กันยายน 2567 เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ต้องการรับสิทธิ์ ให้ยืนยันตัวตนเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 มกราคม 2567 สมัครร่วมโครงการเป็นเวลา 4 เดือน ในส่วนลูกหนี้ NPLs เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ ต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้จนกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาดีในการชำระหนี้ นับเป็นมาตรการสมัครใจ ไม่ได้พักหนี้ให้กับทุกคน เพื่อให้ผู้ต้องการพักหนี้สมัครใจเข้ามาร่วมโครงการ ไม่ใช่พักหนี้แล้วหายไปในช่วง 3 ปี
2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. โดยยึดหลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกร ร่วมกับหลายหน่วยงาน ควบคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อโอกาสให้เกษตรกรนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ ผ่าน การฝึกอบรมอาชีพเกษตรกร ทั้งการหาตลาดใหม่ หันมาใช้เทคโนโลยี พัฒนาคุณภาพการเพาะปลูก การส่งเสริมวินัยการเงิน
สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ ผู้ประกอบการ SMEs มีแบงก์รัฐหลายแห่งเกี่ยวข้องด้วย จะเร่งสรุปแนวทางในการดูแลเพิ่มเติมเร็วๆ นี้ หลังจาก ครม. รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs
นายฉัตรชัย ศิริไล ได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การพักหนี้ครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา จึงกำหนดลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ยืนยันตัวตนทั้งสาขาในพื้นที่ หรือจุดนัดพบในท้องถิ่น เพื่อเลือกแนวทางการพักหนี้ ผ่าน BAAC Mobile เพื่อให้เกษตรกรหันมาใช้แอปผ่านออนไลน์มากขึ้น เมื่อพักหนี้ มีภาระหนี้ลดลง หากใครต้องการขยายอาชีพ ธ.ก.ส. พร้อมปล่อยกู้เพิ่มเติมจากสินเชื่อโครงการเดิมที่มีอยู่ ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย หรือสินเชื่ออื่นๆเพิ่มเติม คาดว่าเมื่อช่วยพัฒนาภาระหนี้ จะทำให้หนี้ NPL ของ ธ.ก.ส. จากร้อยละ 7.8 มูลหนี้ 3.6 หมื่นล้านบาท ลดเหลือร้อยละ 5.5 ในสิ้นปีบัญชี หรือสิ้นเดือนมีนาคม 67 .-สำนักข่าวไทย