กรุงเทพฯ 20 ก.ย.-บอร์ด กกพ.ประชุม ร่วม กฟผ.-ปตท.และสั่งให้เสนอแผนงาน เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ที่ให้ค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค.ลดจาก 4.45 บาท/หน่วยเหลือ 3.99 บาท/หน่วย โดยฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ต้องแบกรับภาระไปก่อนจนกว่าสถานการณ์พลังงานผ่อนคลายจึงเรียกเก็บคืนค่าไฟฟ้าคงค้างจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลัง นักวิเคราะห์คาด ปตท.กระทบสูงสุด3 พันล้านบาท
สำนักงานคระกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) แจ้งข่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กกพ. วันนี้ ( 20 ก.ย.) ได้ เชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท. มาชี้แจงและกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและต้องเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ลดค่าครองชีพเร่งด่วน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566ที่เห็นชอบในหลักการเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 จากเดิมหน่วยละ 4.45 บาท ให้เหลือ 3.99 บาท
อย่างไรก็ตาม การกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.45 บาทนั้น เป็นการคำนวณที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65 และประกาศ กกพ. เรื่องกระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ(Ft) พ.ศ. 2565 แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายปรับลดเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.99 บาท เป็นผลให้เกิดส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์ จำเป็นต้องให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง แบกรับภาระไปก่อนจนกว่าสถานการณ์พลังงานผ่อนคลายจึงเรียกเก็บคืนค่าไฟฟ้าคงค้างจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลัง
ดังนั้น การปฏิบัติตามมติ ครม. ซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงานที่กำหนดให้ ปตท. ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้า ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู
ในส่วนของ กฟผ. ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาทและอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์นั้น ราว 2.3 หมื่นล้านบาท จึงต้องเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าว
โดยรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งในฐานะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจะต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้ามายัง กกพ. เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 67 และสามารถเรียกเก็บค่าไฟฟ้าให้ได้หน่วยละ 3.99 บาท ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2566
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งว่า การดำเนินการกระทบทั้ง 2 องค์กร โดย กฟผ.มีภาระจ่ายเงินค่าซื้อไฟฟ้าและค่าซื้อก๊าซ ปตท.รวม 6 หมื่นล้านบาท/เดือน ในส่วนนี้ เป็นค่าก๊าซฯ จาก ปตท.ราว 1.5 หมื่นล้านบาท/เดือน จ่ายทุกวันที่ 30 ของเดือน ในขณะที่ราคาก๊าซแอลเอ็นจีนำเข้ามีราคาสูงถึง 14 เหรียญสหรัฐ/ล้านบียู เมื่อรวมกับก๊าซในประเทศก็มีราคาสูงกว่า 305 บาท/ล้านบีทียู โดย ปตท.จะไปคิดกลไกดำเนินการให้กระทบน้อยที่สุด เช่น อาจจะให้ กฟผ.แบ่งจ่ายภาระค่าก๊าซ จาก 1 งวดต่อเดือนเป็น 2งวดต่อเดือน และอื่นๆ
นายสุวัฒน์ สินสาฎก รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. บียอนด์ วิเคราะห์ว่า การลดค่าไฟฟ้าแบบฉับพลันเช่นนี้ ทำให้ บจ.กลุ่มโรงไฟฟ้ากระทบมากที่สุด โดยเฉพาะเอสพีพี เช่น กลุ่มบีกริม, จีพีเอสซี, กัลฟ์ โรงไฟฟ้ากดราคาขายสินค้า คือ ค่าไฟ ขณะที่ต้นทุนไม่เปลี่ยนแปลง โดยถูกตัดทันทีในส่วนรายได้ร้อยละ 3-10 ส่วนเรื่องการลดราคาน้ำมัน หรือเปิดเสรีนำเข้านั้น มองส่าโรงกลั่นน้ำมันจะถูกกระทบน้อยที่สุด เพราะที่ผ่านมามีการหารือหลายครั้งและเปลี่ยนแปลงสูตรทำได้ยาก ส่วนการนำเข้าปัจจุบันเป็นตลาดเสรีอยู่แล้ว มีข้อกำหนดเรื่องมาตรฐาน ซึ่งผู้ค้าน้ำมันระบุเองว่านำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปไม่คุ้ม มีความเสี่ยงมาก ซื้อจากโรงกลั่นในประเทศดีที่สุด ส่วนกรณี ปตท.แน่นอนว่าได้รับผลกระทบแต่ก็คาดว่าไม่มากนักราว 1-3 พันล้านบาท ก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับฐานกำไรราว 1 แสนล้านบาท/ปี
“ปตท.ยังไงก็โดน เพราะมีธุรกิจครอบคลุมแยอะแต่จากฐานกำไร 1 แสนล้านบาท ถูกกระทบราว 1-3 พันล้านบาทก็ถือว่าน้อยมาก โดยรวมแล้ว เซนติเมนต์เรื่องลดราคาพลังงาน เรื่องนี้กระทบกลุ่มไฟฟ้า มากสุด โรงกลั่นกระทบน้อย ปตท.ก็นิดหน่อย” นายสุวัฒน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย