ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์จีน กระทบเศรษฐกิจไทย

นนทบุรี 23 ส.ค.-ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) วิเคราะห์ผลกระทบปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะท่องเที่ยว พบมาไทยน้อยลงและภาคการส่งออกได้รับผลกระทบในบางรายการ


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจจีนที่ถือว่ามีอิทธิพลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังรัฐบาลจีนยกเลิกมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อยู่ไม่น้อย โดยปัญหานี้มีต้นตอมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนส่วนใหญ่ทำธุรกิจโดยใช้วิธีกู้ยืมเงินเป็นหลัก และสร้างปริมาณโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ ด้วยเหตุนี้ในเดือนสิงหาคม 2563 ธนาคารกลางจีนจึงประกาศกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า “Three Red Lines” มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และลดการขยายตัวของหนี้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเข้มงวด ซึ่งในเวลานั้นมีเพียง 6.3% ของจำนวนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ครบทุกข้อ จึงทำให้ธุรกิจเกือบทั้งหมดไม่สามารถกู้ยืมเงินเพิ่มเพื่อนำมาใช้หมุนเวียนภายในกิจการได้ 

ประกอบกับยอดขายที่ลดลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้หลายธุรกิจขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ บริษัท Evergrande ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์จีน มีโครงการมากกว่า1,300 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจจีน และเป็นธุรกิจที่มีหนี้มากที่สุดในโลก เพิ่งได้ยื่นขอล้มละลายในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และล่าสุดยังมีข่าวบริษัท Country Garden ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของจีน มีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ


ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือว่ามีขนาดใหญ่จนสามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเป็นวงกว้าง มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 29% ของ GDP จีน ดังนั้นปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์จึงส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2566 นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Barclays ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2566 เหลือเติบโตเพียง 4.5% เท่านั้น หลังจากประเมินแล้วว่าการใช้นโยบายการคลังและการเงินของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลจีนไม่ค่อยเห็นผลนัก ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/66 ยังขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.8 จากไตรมาสที่ 1/66 ขณะเดียวกัน ยังส่ง

ผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของประชาชน เพราะกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรที่อยู่ในเขตเมือง นิยมสร้างความมั่งคั่งด้วยการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้เพื่อการลงทุนและเก็งกำไร และเมื่อราคาที่อยู่อาศัยลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ลงทุนจึงเกิดการขาดทุนกันถ้วนหน้า อีกทั้งยังสร้างผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ภาคการก่อสร้างเป็นแหล่งจ้างงานกว่า 62 ล้านตำแหน่ง แรงงานอาจมีแนวโน้มถูกเลิกจ้างงาน ขณะเดียวกันการจ้างงานใหม่หดตัว โดยเฉพาะการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ที่มีสถิติหดตัวสูงเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการลงทุนใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างเห็นได้ชัดมาตั้งแต่ปี 2565 และปัจจุบันยังคงหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2566 หดตัว 8.5% ตามความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่ลดลงนอกจากนี้ ยังสร้างผลกระทบต่อภาคค้าปลีก จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนที่รายงานภาวะเศรษฐกิจค้าปลีก พบว่า ภาคค้าปลีกของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์อย่างยอดค้าปลีกในหมวดของตกแต่งบ้าน เฉพาะในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมของปีนี้ หดตัวร้อยละ 7.3

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สนค. ได้วิเคราะห์ต่อ 2 ภาคเศรษฐกิจสำคัญ คือ 1. ผลกระทบต่อ ภาคการท่องเที่ยว ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนที่ลดลง และส่งผลข้างเคียงมายังเศรษฐกิจ


ภาคการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศไทย โดยในช่วงเวลาปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 11.1 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวน 5.3 แสนล้านบาท แต่ในปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาในประเทศไทยสะสมช่วงครึ่งปีแรกเพียง 1.4 ล้านคนเท่านั้น และ 2. ผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งมีผลกระทบที่ส่งผ่าน 3 ช่องทาง คือ (2.1) ผลกระทบจากกำลังซื้อของชาวจีนที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนต่อ GDP ของจีนค่อนข้างมาก อีกทั้งยังเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และส่งผลต่อเนื่องไปยังการบริโภคที่ลดลง โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าที่มิใช่สินค้าจำเป็น (2.2) ผลกระทบต่อ

การส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีเพียงบางรายการ ได้แก่ เคมีภัณฑ์(เช่น เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง) และเม็ดพลาสติก ซึ่งมีจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วน 18% และ 29% ตามลำดับ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออก Top 10 ของไทย ซึ่งครึ่งปีแรกของปี 2566 สองสินค้าข้างต้นที่ส่งออกไปจีน หดตัว 20.9% และ 26.9% ตามลำดับ ขณะที่สินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคการก่อสร้าง เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เครื่องจักรกลที่ใช้ในการก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก คาดว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย-น้อยมาก เนื่องจากจีนไม่ใช่ตลาดส่งออกหลัก และ (2.3) ผลกระทบโดยอ้อมจากอิทธิพลด้านราคาอาทิ เหล็กและเหล็กกล้า ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ด้วเหตุผลที่จีนเป็นผู้บริโภคและผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก จึงมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาสินค้า และไทยในฐานะเป็นPrice taker การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องจึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาที่มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนอยู่บ้าง โดยเฉพาะราคาเหล็กที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมากกว่าสินค้าอื่น ๆ ตามผลของ JP Morgan พบความสัมพันธ์ระหว่างการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่กับการนำเข้าเหล็กของจีนที่มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างมากและเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ สนค.ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยคอยติดตามสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนเป็นระยะ ๆ เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลค่อนข้างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจของไทยโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศ สำหรับภาคการค้า จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 12 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจจีนย่อมมีผลกระทบสำคัญต่อการส่งออกสินค้าไทยอยู่ไม่น้อย.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ตึกถล่มพบเสียชีวิตเพิ่ม

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่าง

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ในพื้นที่โซน B และโซน C มีซากอาคารถล่มทับร่างอยู่ ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่างและค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคารต่อเนื่อง

ชายวัย 50 ไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องเมียท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากตึก สตง.

ชายวัย 50 ปี ยกมือไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องภรรยาท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากอาคาร สตง.ถล่ม ด้านรอง ผบช.น. เตือนอย่าใช้โอกาสที่มีผู้ประสบเหตุสร้างความสงสารหลอกเอาทรัพย์สิน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

ออกแล้ว! ผลตรวจเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่ม พบไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น

ผลตรวจตัวอย่างเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว พบได้มาตรฐาน 15 ชิ้น ไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น ยังไม่สรุปเป็นสาเหตุตึกถล่ม ชี้ต้องดูหลายองค์ประกอบ

ข่าวแนะนำ

ท่าทีไทยการค้าสหรัฐ

นายกฯ ออกแถลงการณ์ท่าทีประเทศไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐ

นายกฯ ออกแถลงการณ์ท่าทีประเทศไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐ หลัง “ทรัมป์” ประกาศปรับภาษีนำเข้า 36% เตรียมปรับดุลการค้าให้เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ชี้ระยะยาวผู้ประกอบการส่งออกไทยควรมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ลดความเสี่ยงพึ่งพาตลาดเดียว ย้ำรัฐบาลวางมาตรการรองรับบรรเทาผลกระทบ ​

พบสัญญาณชีพ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยันพบสัญญาณชีพหญิงสาว 1 คน

ว่าฯ ชัชชาติ ยันพบสัญญาณชีพหญิงสาวบริเวณโพรงบันไดหนีไฟ 1 คน ใช้โซนาร์วัดระยะความลึกเสียงได้ 3 เมตร ย้ำไม่หมดหวัง แต่ไม่อยากให้ทุกคนคาดหวัง จะเร่งทำงานเพื่อนำหญิงคนดังกล่าวออกมาให้ได้โดยเร็วที่สุด

ทรัมป์ขึ้นภาษี

“ทรัมป์” ประกาศมาตรการภาษี ‘วันปลดปล่อยอเมริกา’

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น โดยจะเก็บภาษียานยนต์ต่างประเทศทั้งหมดร้อยละ 25 ที่เหลือโดนหมดถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

พ่อขอของขวัญวันเกิดให้ลูกชายรอดชีวิตจากตึก สตง.ถล่ม

พ่อของหนุ่มขอนแก่น วัย 35 ปี หนึ่งในผู้สูญหายจากอาคาร สตง.ถล่ม ขอของขวัญวันเกิดให้ลูกชายรอดชีวิต ส่วนหนุ่มช่างประปา วัย 32 ปี เหยื่อตึก สตง.ถล่ม เผาแล้ว แม่ยังทำใจไม่ได้ สะอื้นไห้หน้าเมรุ