กรุงเทพฯ 22 ส.ค.-Krungthai COMPASS จัดตั้งรัฐบาลล่าช้า กระทบต่อการลงทุนภาครัฐในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้5-7 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.2-0.4 % ของ GDP ปี
Krungthai COMPASS หน่วยงานวิจัย ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2/2566 ขยายตัว 1.8% เติบโตชะลอลงจากไตรมาสที่ 1/2566 ที่ขยายตัว 2.6% โดยเศรษฐกิจชะลอลงจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องและการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวทั้งการอุปโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน และการส่งออกบริการขยายตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 จาก 2.7-3.7% เหลือ 2.5-3.0% จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัว ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ส่วนหนึ่งมาจากการลดลงของสินค้าคงคลัง โดยการเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลังในไตรมาสนี้ลดลง 94.6 พันล้านบาท โดยการสะสมสินค้าคงคลังลดลงในสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และเหมืองแร่ คาดว่าเป็นการลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง ปัจจัยหลักจากภาคการส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่อง ทำให้ภาคธุรกิจมีความกังวลต่อกำลังซื้อที่ยังไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ จึงลดการสตอกสินค้าในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่มีความไม่แน่นอนสูงและมีแนวโน้มทำให้การจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 มีความล่าช้าออกไป ซึ่งจะกระทบต่อการเบิกใช้จ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสที่ 4/2566 (หรือไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2567) โดยปกติการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำสามารถดำเนินได้ตามกรอบงบประมาณเดิมในปีก่อนขณะที่การเบิกจ่ายด้านการลงทุนอาจได้รับผลกระทบจากการอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ที่ล่าช้ากว่าคาด เช่นเดียวกับในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ที่เคยเกิดปัญหาการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้าจากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่และกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายด้านการลงทุน ซึ่งต่ำกว่าช่วงปกติถึง 70% ในไตรมาสที่4 ของปี 2562
Krungthai COMPASS ประเมินว่าการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีแนวโน้มล่าช้าออกไปอย่างน้อย 1 ไตรมาส ซึ่งจะกระทบต่อการเบิกใช้จ่ายงบประมาณด้านการลงทุนเป็นสำคัญ และคาดว่าจะกระทบต่อการลงทุนภาครัฐในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ประมาณ 5-7 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.2-0.4 % ของ GDP ปี 2566 ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันทำให้เศรษฐกิจปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ .–สำนักข่าวไทย