กรุงเทพฯ 25 มิ.ย.-กระทรวงพาณิชย์เตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญปั้นระนองสู่เมืองธุรกิจสุขภาพเชื่อมโยงท่องเที่ยว
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ พาณิชย์ภาค (Mini MOC 6) รับผิดชอบดูแลภาคใต้ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่จังหวัดระนอง ว่า ระนองเป็นจังหวัดภาคใต้ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจสุขภาพเชื่อมโยงธุรกิจท่องเที่ยวได้ ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศมาให้ความรู้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่นในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากปัจจุบันระนองมีศักยภาพโดดเด่นด้านการบริการเชิงสุขภาพและมีแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว โดยต้องมีการพัฒนาสินค้าชุมชนและผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว โดยการพัฒนาจะต้องยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพและความงาม พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างตราสินค้า และการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายรูปแบบใหม่ๆ ต่อไป
สำหรับธุรกิจสุขภาพในระนอง ปัจจุบันมีอยู่แล้วทั้งธุรกิจสปา อาบน้ำแร่ แช่น้ำพุร้อนตามธรรมชาติ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญหลายแห่ง สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวได้แก่ “บ่อน้ำร้อนรักษะวาริน” ซึ่งแปลว่าน้ำที่รักษาโรคได้ บ่อน้ำร้อนดังกล่าวเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีจำนวน 3 บ่อ อุณหภูมิสูง 65 องศาเซลเซียส อยู่ใกล้แหล่งชุมชนในเขตอำเภอเมือง มีการจัดสร้างตกแต่งสวนหย่อม ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนและนักท่องเที่ยว และ “บ่อน้ำร้อนพรรั้ง” ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ตำบลหงาว อำเภอเมือง อยู่ห่างจาก ตัวอำเภอเมืองระนองประมาณ 10กิโลเมตร พื้นที่มีความหลากหลายด้านชีวภาพ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เหมาะแก่การอาบน้ำแร่แบบธรรมชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบผจญภัยอีกด้วย
จังหวัดระนองยังเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่มีด่านศุลกากรที่อำนวยความสะดวก ให้ประชาชนทั้งไทยและสหภาพเมียนมา สามารถสัญจรไปมา ติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ระหว่างกัน มีด่านสำคัญคือด่านระนอง โดยมีมูลค่าการค้าชายแดนที่ทำการส่งออก-นำเข้าสินค้าระหว่างกัน ปีละกว่า 19,000 ล้านบาท ซึ่งมากเป็นอันดับสามรองจากจังหวัดตากและกาญจนบุรี ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค.-เม.ย) ปริมาณการค้าชายแดนไทย-เมียนมาผ่านด่านระนองมีประมาณ 11,200ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของจังหวัดระนองได้แก่ ปูนซีเมนต์ เครื่องดื่มที่ให้พลังงาน เครื่องดื่มอื่นๆ ตาข่ายจับปลา เบียร์ น้ำตาลทราย กาแฟสำเร็จรูป ผงชูรส ยารักษาโรค บรั่นดี เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเมียนมาจะเป็นจำพวกสัตว์น้ำ ปลาป่น ปลาหมึกแช่เย็น ปลาเบญจพรรณ แร่ดีบุก น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น ปูทะเลสด กระเพาะปลาสวายตากแห้ง เป็นต้น
ด้านประชากรชาวระนองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และทำการเกษตร ซึ่งสินค้าเด่นของจังหวัด ได้แก่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซาลาเปาทับหลี อาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ น้ำดื่มน้ำแร่ธรรมชาติระนอง มุก และสิ่งประดิษฐ์เปลือกหอย เป็นต้น-สำนักข่าวไทย