นนทบุรี 27 ก.ค.-กรมการค้าภายในทราบถึงความเดือดร้อนผู้เลี้ยงหมู มีแผนช่วยเหลือลดต้นทุนวัตถุดิบไว้แล้ว พร้อมชงพิกบอร์ดพิจารณาชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้กับผู้เลี้ยงหมู เตรียมจัดมหกรรมชิมซื้อเนื้อหมู ไก่ ไข่ ปลาในห้างใหญ่ใจกลางเมืองเร็วๆนี้ ปลื้มราคาข้าวเปลือกสูงจนไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามโครงการประกันรายได้
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวถึงขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรขนาดกลางและย่อยได้รับความเดือนร้อนจากราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งราคาเฉลี่ยของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติของเดือนมิถุนายน 2566 ประกาศไว้ที่ 90.57 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรขายได้จริงไม่ถึง 60 บาทต่อกิโลกรัมนั้น โดยสาเหตุมาจากต้นทุนการเลี้ยงและต้นทุนวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นต่อเนื่องจากเหตุการณ์ภายนอกประเทศ ทำให้ราคาเนื้อหมูเขียงจำหน่ายอยู่ขณะนี้ 130.69 บาท/กก.ถือว่าราคาไม่ค่อยดีนักแม้ผู้บริโภคจะได้ราคาเนื้อหมูถูกลงมาแต่กลุ่มผู้เลี้ยงหมูขนาดกลางและรายย่อยต้องแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวสูงพอสมควร
อย่างไรก็ตาม โดยมาตรการบรรเทาผลกระทบให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงหมูดังกล่าว ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ กรมการค้าภายในได้ประชุมหารือร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงที่จะช่วยกันหาวิธีลดต้นทุนเกี่ยวกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ต่างๆ เช่น ข้าวโพค ถั่วเหลืองและอื่นๆผ่านกลไกการร่วมกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ไปจัดซื้อวัตถุดิบจากทางโรงงานผลิตอาหารสัตว์โดยตรงและขอความร่วมมือโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ ยังคงราคาจำหน่ายไว้ในราคาเดิมก่อน และหากเห็นว่าต้นทุนวัตถุดิบลดลงก็ควรจะปรับราคาอาหารสัตว์ลดลงตามกลไกตลาด
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำ “โครงการเชื่อมโยงอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรผู้เลี้ยงสัตว์ ปี 2566” วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำนวนไม่เกิน 10 ตัน เกษตรกรสามารถแจ้งความจำนงในการซื้อกับทางโรงงานที่เข้าร่วมโครงการกว่า 90 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงสหกรณ์ต่างๆได้โดยตรง โดยโครงการดังกล่าวยังถือเป็นโครงการนำร่องระยะเวลา 1 เดือน หากเห็นผลจะมีการพิจารณาขยายระยะเวลาต่อไป เพื่อช่วยเกษตรกรในเรื่องของการลดต้นทุนการเลี้ยงปศุสัตว์อีกด้วย
“โครงการช่วยเหลือเกษตรกร จะเป็นการจ่ายเงินชดเชยค่าอาหารสัตว์ให้เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกร ไก่ไข่ ไก่เนื้อ กิโลกรัม (กก.) ละ 1 บาท ปริมาณรายละไม่เกิน 10 ตัน สูงสุดไม่เกินรายละ 10,000 บาท ระยะเวลา 1 เดือน โดยใช้งบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตร (คชก.) ประมาณ 8 ล้านบาท ซึ่งผู้ขอรับการสนับสนุน ต้องเป็นผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อย รายเล็ก และรายกลาง ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เลี้ยงสัตว์กับกรมปศุสัตว์ และได้รับมาตรฐานระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (จีเอฟเอ็ม) โดยมีจำนวนการเลี้ยงตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ ผู้เลี้ยงสุกร ต้องไม่เกิน 5,000 ตัว ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ไม่เกิน 100,000 ตัว และผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ไม่เกิน 100,000 ตัว คาดว่า จะมีผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 800 ราย และกรมฯได้นำเสนอแนวทางช่วยเหลือชดเชยด้านดอกเบี้ย 3% ให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงหมูต่อคณะกรรมการพิกบอร์ดไปแล้ว”นายวัฒนศักย์กล่าว
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสนับสนุนค่าบริหารจัดการรายละไม่เกิน 10,000 บาท ได้แก่ การซื้ออาหารสัตว์ผสมสำเร็จรูป เป็นการซื้อจากผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาตผลิตอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะจากกรมปศุสัตว์ หรือสหกรณ์การเกษตรที่ผลิตอาหารสัตว์ หรือสหกรณ์ผู้รับจำหน่ายอาหารสัตว์ ระยะเวลาการซื้ออาหารสัตว์ ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.-6 ส.ค.2566 สามารถยื่นขอรับเงินสนับสนุนได้ตั้งวันที่ 13 ก.ค.-12 ส.ค.2566 นี้ และขณะนี้กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างพูดคุยคุยกับห้างสรรพสินค้ารายใหญ่แถวราชประสงค์เพื่อเตรียมจัดงานมหกรรมชิมซื้อสินค้าประเภทเนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาและอื่นๆเพื่อนำสินค้าเหล่านี้มีช่องทางจำหน่ายในราคาไม่แพงช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และลดค่าครองชีพให้กับประชาชน
นอกจากนี้ หากดูภาพรวมราคาสินค้าสัปดาห์นี้ ในหมวดอาหาร เช่น ราคาสินค้าข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ย 15,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่เฉลี่ย 13,750 บาท/ตันข้าวเปลือกปทุม เฉลี่ย 12,100 บาท/ตันข้าวเปลือกเจ้านาปี เฉลี่ย 11,000 บาท/ตันข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ย 13,600 บาท/ตันถือเป็นราคาข้าวดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องชดเชยราคาประกัน
ขณะที่ ราคามันสำปะหลัง เฉลี่ย 3.28 บาท/กก.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เฉลี่ย 10.35 บาท/กก.ปาล์มน้ำมัน เฉลี่ย 6.00 บาท/กก.หมูเนื้อแดง เฉลี่ย 130.69 บาท/กก.
ไก่ น่องสะโพก เฉลี่ย 81.13 บาท/กก.ไก่ น่อง เฉลี่ย 83.75 บาท/กก.
ไก่ สะโพก เฉลี่ย 86.19 บาท/กก.
ไก่ อก เฉลี่ย 78.69 บาท/กก.
ไข่ไก่ เบอร์ 3 เฉลี่ย 4.29 /ฟองเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย